คปภ. เปิดเวทีประชุม CEO Insurance Forum 2022 ระดมสมองภาคธุรกิจประกันภัยถอดบทเรียนโควิด

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษและเปิดการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2565 (CEO Insurance Forum 2022) ภายใต้แนวคิด “Rebuilding Insurance Resilience to Overcome the VUCA World” ซึ่งเป็นการจัดประชุมในรูปแบบผสมผสาน (หรือ Hybrid Conference) เพื่อเป็นเวทีสื่อสารทิศทางและนโยบายในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทย รวมทั้ง แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจประกันภัย และผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ณ ห้องประชุม CRYSTAL ชั้น 3 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก

ในโอกาสนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “บทบาทของธุรกิจประกันภัยต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดีขึ้นมาเป็นลำดับ และคาดว่าภายในปีนี้ประเทศไทยจะพ้นวิกฤตโควิด และจะสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติต่อไป โดยแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้คาดการณ์ว่า

จะเป็นปกติ อันเนื่องมาจากกลไกทางเศรษฐกิจกลับมาทำงาน ภาคประกันภัยจำเป็นต้อง Rethink และทบทวนบทเรียนต่าง ๆ เพื่อก้าวเดินต่อไปข้างหน้า โดยที่ผ่านมาธุรกิจประกันภัยมีส่วนช่วยดูแลพี่น้องประชาชนผ่านมาตรการต่าง ๆ ถึงแม้ว่าจะมีบางส่วนที่มีปัญหาบ้าง ก็ต้องนำมาทบทวนความเสี่ยง และต้องบริหารความเสี่ยงทั้งในภาวะปกติและไม่ปกติ ความเชื่อมั่นของระบบประกันภัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะระบบประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของภาคการเงิน ความเชื่อมั่นมาจากประชาชน โดยธุรกิจประกันภัยนำเงินของประชาชนไปบริหารความเสี่ยงผ่านการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ส่งผลทำให้เกิดความเชื่อมั่นจากระบบประกันภัย ซึ่งระบบประกันภัยมีผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบด้วย หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ธุรกิจประกันภัย (Business) ประชาชนผู้บริโภค (Consumer) และนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary) รวมถึงพนักงานบริษัท ตัวแทนประกันภัย/นายหน้าประกันภัย ซึ่งทั้ง 4 ส่วน มีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยให้กับประชาชน

นอกจากนี้ต้องเร่งปรับตัวในเรื่อง Digitalisation ซึ่งระบบดิจิทัลจะเป็นเรื่องหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังโควิด รวมถึงการให้บริการภาครัฐตามโครงการต่าง ๆ ก็จะใช้ Mobile Appication มากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจประกันภัย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า หลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิดไปแล้ว ธุรกิจประกันภัยจะเป็นเครื่องมือในการระดมเงินออมไปสู่การลงทุนที่สำคัญจึงต้องเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่อง คือ เรื่องที่ 1 ความมั่นคงของระบบประกันภัยที่ต้อง Rebuild ในการบริหารความเสี่ยงโดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย และการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทน เรื่องที่ 2 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในทุกมิติหรือทุกภาคส่วน และเรื่องที่ 3 การส่งเสริมระบบประกันภัยให้เกิดความยั่งยืน Sustainable Insurance ซึ่งความยั่งยืนในเวทีเอเปคที่จะเกิดขึ้นเดือนตุลาคมนี้จะมีเรื่องความยั่งยืน Sustainable Financial รวมทั้งภาคการเงิน ตลาดทุน และภาคประกันภัย จะทำอย่างไรให้ธุรกิจประกันภัยมีความยั่งยืน เรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจประกันภัยที่ดำเนินการมาคือ การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการโครงการพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ การประกันภัยข้าวนาปี และการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นหลักประกันให้เกษตรกรผ่านระบบประกันภัยเข้ามาบริหารจัดการความเสี่ยง และได้ดำเนินการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าประสบความสำเร็จด้วยดีมาโดยตลอด ซึ่งแน่นอนว่าความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่คาดการณ์ไม่ได้ อาจจะทำให้ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามคาด แต่ช่วยลดภาระภาครัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยจากธรรมชาติ จึงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลให้เกิดมั่นคงและความเชื่อมั่นอย่างยั่งยืน

จากนั้น ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(เลขาธิการ คปภ.) ได้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การเสริมสร้างเกราะประกันภัย ภายใต้บริบทโลกใหม่” โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า การประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2565 (CEO Insurance Forum 2022) ภายใต้แนวคิด “Rebuilding Insurance Resilience to Overcome the VUCA World” เป็นการประชุมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นปีแห่งการพลิกฟื้นเริ่มต้นใหม่ หลังจากที่ภาคธุรกิจและประชาชนต้องฝ่าฟันกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับความท้าทาย เพื่อที่จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนภายใต้บริบทของความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty)

ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) โดยปัจจัยสำคัญที่จะนำพาให้มีการเติบโตโดยสามารถก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ภายใต้บริบท VUCA ได้ คือ การเปลี่ยนจากการตั้งรับ (Response) ต่อสถานการณ์และบรรเทาผลกระทบไปสู่ (Resiliency) การสร้างสมดุลและความยืดหยุ่นให้กับระบบประกันภัย รวมถึงการฟื้นฟูและกู้คืนความเชื่อมั่น (Recovery) ได้อย่างทันกาล

ดังนั้น ทิศทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในปี 2566 โดยมีโจทย์ใหญ่ที่สำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นและเติบโตอย่างยั่งยืนใน 7 มาตรการ คือ

มาตรการที่ 1 การเสริมเกราะป้องกัน หรือ Resilience ให้กับภาคธุรกิจ ได้แก่ เร่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจประกันภัยจากภายในอย่างแท้จริง ให้มีความยืดหยุ่น สามารถตอบสนองต่อสภาวการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที โดยมีฐานะเงินกองทุนที่เข้มแข็งเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันจะเร่งส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยมีธรรมาภิบาลและการบริหารความเสี่ยงที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย การพิจารณารับประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย ไปจนถึงการจัดการค่าสินไหมทดแทน

มาตรการที่ 2 เร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เน้นในเรื่อง Principle-Based มากขึ้น เพิ่มเติมมาตรการและแนวทาง (Policy Tools) ให้บริษัทประกันภัยดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการเติบโตในระยะยาว และปรับพอร์ตการรับประกันภัยให้มีความสมดุล พร้อมกับการยกระดับมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญ และสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

มาตรการที่ 3 การถอดบทเรียนจากประกันภัยโควิดแบบเจอ-จ่าย-จบ สำนักงาน คปภ. จะยกระดับกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มาตรการที่ 4 เร่งขับเคลื่อนการปรับปรุงกฎหมายแม่บท ด้านการประกันภัย ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย โดยร่าง พ.ร.บ. กลุ่มที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและการรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไปแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และการพิจารณาในชั้นรัฐสภาต่อไป สำหรับร่าง พ.ร.บ. กลุ่มที่ 3 ซึ่งเกี่ยวกับการส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดของกรรมการ และร่าง พ.ร.บ. ประกันภัยทางทะเล อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

มาตรการที่ 5 ชูบทบาทของสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) ให้มีบทบาททั้งเสริมสร้างความรู้ให้กับบุคลากรในธุรกิจประกันภัย และส่งเสริมงานวิจัยด้านการประกันภัย เสริมสร้างเผยแพร่องค์ความรู้ ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้ตอบโจทย์ความต้องการของประกันภัยในยุค New Normal

มาตรการที่ 6 กระตุ้นให้ธุรกิจประกันภัยมีการประยุกต์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างจริงจัง และมาตรการที่ 7 ผลักดันให้ประกันภัยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในแต่ละภูมิภาค และเสริมสร้างความเชื่อมั่นจากสาธารณชน

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างเกราะป้องกันให้ธุรกิจประกันภัย คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยผลักดัน สนับสนุน และขับเคลื่อนมาตรการและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยมีความเข้มแข็ง และมีบทบาทในการสร้างประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งการประชุมครั้งนี้มี Highlight ตรงที่การประชุมกลุ่มย่อยเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจประกันภัยและสำนักงาน คปภ. มีการอภิปรายระดมความคิดเห็น เพื่อกลั่นกรองสู่ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โดยแบ่งกลุ่มย่อยเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มย่อยที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “Embracing Prudential Insurance Ecosystem” โดยมี นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการ ด้านกำกับ เป็นประธานการประชุม สำหรับกลุ่มย่อยที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “Digitizing Insurance Supervisory Framework” โดยมี นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านตรวจสอบ เป็นประธานการประชุม และกลุ่มย่อยที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “Enhancing Trust for Sustainable Insurance” โดยมี นายชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งการประชุมทั้ง 3 กลุ่มย่อยดังกล่าวจะมีเลขาธิการ คปภ. เข้าร่วมประชุมและให้ข้อเสนอแนะอย่างใกล้ชิดทั้ง 3 การประชุมกลุ่มย่อยดังกล่าว

ที่ประชุมทั้ง 3 กลุ่ม มีข้อสรุปร่วมกันและเห็นว่าสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป มีดังนี้

1. ภาคธุรกิจประกันภัยต้องมีการเตรียมตัวเพื่อรองรับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น และสร้างความเชื่อมั่น สร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้เอาประกันภัย

2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ เพื่อรองรับความเสี่ยงภัยใหม่ที่จะเกิดขึ้นควรใช้ประโยชน์จากโครงการ Insurance Regulatory Sandbox และโครงการ Product Innovation and Tailor-Made Sandbox ให้มากขึ้น

3. นักคณิตศาสตร์ประกันภัยควรจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะ

นักคณิตศาสตร์ระดับเฟลโล่ (Fellow) ซึ่งต้องพิจารณารับรองผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จะยื่นขอรับความเห็นชอบมายัง

นายทะเบียน

4. เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่บริษัทประกันภัยควรมี คือ การยืนยันตัวตนของผู้เอาประกันภัย (Know Your Customer : KYC) ในการสนับสนุนการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งอาจเป็นระบบ KYC กลาง หรือใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วย

5. การรับประกันภัย การจัดการทางบัญชีและการเงิน และการจัดการค่าสินไหมทดแทน บริษัทประกันภัยควรมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงาน

6. สำนักงาน คปภ. ควรมีการปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เพื่อให้การทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น การปรับปรุง Free Look Period ของผลิตภัณฑ์การให้ความคุ้มครองการแพ้วัคซีน

7. การปรับปรุงระบบการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย

8. การจัดทำฐานข้อมูลกลาง เพื่อใช้ในการติดตามกำกับดูแล การกระทำความผิดของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย การใช้ฐานข้อมูลสำหรับการประสานความร่วมมือทางคดี

9. การพัฒนาระบบการประสานงานข้อร้องเรียนด้านการประกันภัยโดยการส่งข้อร้องเรียนให้บริษัทประกันภัยที่ถูกร้องเรียนผ่านระบบอีเมล์ของแต่ละบริษัทเพื่อดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน แบบ Real Time

10. บริษัทประกันภัยควรมีแผนการบริหารความเสี่ยงที่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

11. แนวทางเกี่ยวกับกระบวนการเข้าทำสัญญา การใช้หรือการตีความข้อสัญญา และการยกเลิกสัญญาให้เป็นธรรม และไม่กระทบต่อผู้เอาประกันภัย การตีความสัญญาประกันภัยต้องเป็นไปตามกฎหมายประกันภัย หรือต้องปรากฏหลักฐานชัดเจนต่อบริษัทว่าผู้เอาประกันภัยได้กระทำการทุจริตหรือฉ้อฉลประกันภัย และอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 โดยหากสัญญาข้อใดที่ไม่เป็นธรรมให้มีผลใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment