ปลื้ม นศ. แห่เรียนชลกร รุ่น 2

“คุณหญิงกัลยา” ปลื้มชลกร รุ่น 2 นศ.แห่สมัครเรียนเกินเป้า มหาสารคามแชมป์สูงสุด ชูเนื้อหาเข้มข้น มาตรฐานสากล เรียนแล้วแก้จน ลดต้นทุนน้ำ เพิ่มรายได้

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณ พนิช) เปิดเผยว่า หลักสูตรชลกร ซึ่งได้เปิดรับสมัครนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ระดับ ปวส. ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ สาขาวิชา ช่างกลเกษตร สาขางาน การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร (หลักสูตรชลกร) ประจำปีการศึกษา 2565 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ได้ปิดรับสมัครแล้ว ปรากฎว่ามีนักศึกษาสนใจสมัครเข้าเรียนใน 11 วิทยาลัยฯ ที่เปิดสอน รวมทั้งสิ้นจำนวน 218 คน ซึ่งมากกว่าปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา

“เป็นที่น่ายินดีที่หลักสูตรชลกรได้รับความสนใจจากผู้ปกครองและนักเรียนเป็นจำนวนมาก โดยในรุ่นที่ 2 นี้มีนักศึกษาสนใจสมัครเรียนเข้ามา 218 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าปีก่อน โดยวิทยาลัยเกษตรฯ มหาสารคามมีนักศึกษาสมัครเรียนเข้ามามากที่สุด จำนวน 55 คน รองลงมาคือวิทยาลัยเกษตรฯ ศรีสะเกษ จำนวน 52 คน และวิทยาลัยเกษตรฯ สุโขทัย จำนวน 39 คน ตามลำดับ ซึ่งในรุ่นที่ 2 นี้ยังให้ทุนเรียนฟรีตามเจตนารมณ์ของคุณหญิงกัลยาที่ต้องการจะสานต่อศาสตร์พระราชาไปสู่เยาวชนและชุมชน พร้อมทั้งยกระดับองค์ความรู้สู่สากลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน”นางดรุณวรรณ กล่าว

นางดรุณวรรณ กล่าวว่า คุณหญิงกัลยา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและประธานโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ มีเป้าหมายที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ สานต่อศาสตร์พระราชาในเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ผ่านวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 47 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้สามารถพึ่งการจัดการน้ำด้วยชุมชนได้ ซึ่งหลักสูตรชลกรจะมีประโยชน์อย่างมากต่อวงการศึกษาไทย และประเทศชาติ สามารถนำมาประกอบเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แก้จน ลดต้นทุนน้ำ เพิ่มรายได้ เพราะเรื่อง “น้ำ” ไม่ใช่เฉพาะแต่เกษตรกรเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ แต่รวมถึงผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจประเทศก็จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล

ทั้งนี้สำหรับหลักสูตรชลกร รุ่น 2 ได้มีการปรับเนื้อหาให้มีความเข้มข้นขึ้น สู่มาตรฐานสากล และเป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่มีตำราเรียน “ชลกร” ส่วนหลักสูตรระยะสั้นสำหรับบุคคลทั่วไป หรือหน่วยงานองค์กร ที่สนใจนั้น ทราบว่าขณะนี้ก็มีหลายหน่วยงานได้ติดต่อประสงค์จะส่งบุคคลากรเข้ามาฝึกอบรมหลายหน่วยงาน ซึ่งสามารถติดต่อเข้าไปฝึกอบรมได้ใน 11 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีที่เปิดสอนหลักสูตรชกร ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชานี ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุดรธานี ชัยภูมิ และสุโขทัย

ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์ และนวัตกรรม (KGEO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและขอต้อนรับนักศึกษาหลักสูตรชลกร รุ่น 2 ทั้ง 218 คน ซึ่งมั่นใจว่าทุกคนจะได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์มากๆ เพราะหลักสูตรชลกรนี้จะเน้นองค์ความรู้ที่ได้จากผู้ปฏิบัติจริงในสายงานจริงมาเป็นผู้ถ่ายทอดให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง และที่สำคัญเป็นองค์ความรู้ในระดับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายสนับสนุน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสและต่อยอดให้นักศึกษาสามารถเข้าฝึกงานและทำงานกับหน่วยงานนั้นๆ ในอนาคตได้


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment