กรมรางฯระดมไอเดียประเมินการดำเนินงาน วาง 19 ตัวชี้วัดระดับให้บริการ

“กรมรางฯ” จัดระดมความเห็น “จัดทำระบบประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานการขนส่งทางรางในแต่ละสายทางของประเทศ” วางมาตรฐาน 19 ตัวชี้วัด กำกับผู้ประกอบการระบบราง ยกระดับการให้บริการ พร้อมกำหนดบทลงโทษปรับเงิน-อาญา คาดมีผลบังคับใช้ หลังประกาศใช้ พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฉบับใหม่ ช่วงต้นปี 66

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาและจัดทำระบบประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานการขนส่งทางรางในแต่ละสายทางของประเทศ วันนี้ (11 ก.ค. 2565) ว่า โครงการดังกล่าว ขร.ได้ดำเนินการศึกษา รวบรวม ประมวลมาตรฐานสากลและกรณีศึกษาด้านการขนส่งทางรางจากประเทศต่างๆ รวมทั้ง กรณีศึกษาจากประเทศต่างๆ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับบริบทประเทศไทย ประกอบศึกษาเสนอตัวชี้วัดในการกำกับประสิทธิภาพระบบขนส่งทางราง รวม 7 ด้าน ประกอบด้วย .ประสิทธิภาพด้านระบบ 2.ประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ 3.ประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรบุคคล 4.ประสิทธิภาพด้านดำเนินงาน 5.ประสิทธิภาพด้านการเงิน 6.ประสิทธิภาพด้านการบริการ และ 7.ประสิทธิภาพการจัดการด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม

สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ มีการบูรณาการและการมีส่วนร่วมจากกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานในระดับนโยบายและแผน ผู้ประกอบการขนส่งทางรางทุกระบบ ภาคประชาชน สถาบันและสมาคมวิชาชีพด้านการขนส่ง รวมทั้งการเก็บรวบรวมความเห็นและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการขนส่งทางราง เพื่อประกอบการดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อเป็นหน่วยงานกำกับดูแลระบบราง อาทิ รถไฟในเมือง รถไฟระหว่างเมือง โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นการกำกับโดยมีตัวชี้วัด ระดับหน่วยงานกำกับดูแลระบบขนส่งทางราง (RI)​ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่เป็นตัวกำกับ โดยให้ความสำคัญกับการให้บริการ และมีผลกระทบต่อผู้โดยสารโดยตรง รวมทั้งเป็นตัวชี้วัดในการติดตามผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณา​ระบบขนส่งทางราง ซึ่งมีทั้งหมด 19 ตัวชี้วัด อาทิ อัตราการเกิดอุบัติเหตุ อัตราการเสียชีวิต​ของผู้โดยสาร ประสิทธิภาพการให้บริการ และปริมาณการขนส่งสินค้า

ทั้งนี้ ตามที่เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมีสภาผู้เแทนราษฎรโหวตรับหลักการ ปรากฎว่ามีผู้เห็นด้วย 251 คน และไม่เห็นด้วย 1 คน จากทั้งหมด 252 คน หมายความว่าประชาชนเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ที่จะต้องพัฒนาการให้บริการด้านระบบขนส่งทางรางให้ดีขึ้น เบื้องต้นในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค. 2565) คณะกรรมาธิการวิสามัญ จะมีการแปรญัตติรอบแรก

ขณะเดียวกัน หลังจากนั้นจะเริ่มนำคำสงวนคำแปรญัตติมาพิจารณาว่าควรแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวหรือไม่ หากมีการแก้ไขเล็กน้อยจะทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายเร็วขึ้น เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรท่านใดขอแก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปจะเสนอต่อรัฐสภาในวาระที่ 2-3 ได้เร็วขึ้น โดยคาดว่ากระบวนการพิจารณาในรัฐสภา จะแล้วเสร็จพร้อมประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2566 หลังจากร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ โดยขั้นตอนต่อไปจะเริ่มดำเนินการออกประกาศกฎกระทรวงทั้งหมด 54 ฉบับ ซึ่งมีระยะเวลาในการออกประกาศ 90 วัน ทั้งนี้ การจัดทำระบบประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานการขนส่งทางรางในแต่ละสายทางของประเทศ เป็นหนึ่งในประกาศกฎกระทรวงฯ ของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวด้วย

นายพิเชฐ กล่าวต่ออีกว่า หลังจาก พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้แล้ว กรมฯ จะกำหนดข้อบังคับให้เจ้าของหน่วยงานของแต่ละโครงการส่งข้อมูลตัวชี้วัดการให้บริการที่ส่งผลกระทบกับประชาชน หลังจากนั้น ประชาชนจะสามารถทราบข้อมูลดังกลาวผ่านทางเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น ของกรมฯ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการให้บริการ นอกจากนี้ หากเจ้าของหน่วยงานของแต่ละโครงการไม่ปฏิบัติการข้อบังคับของกรมฯ จะมีบทลงโทษเชิงปกครอง หรือปรับเงิน และบทลงโทษทางอาญาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขร.พร้อมขับเคลื่อนผลการศึกษาสู่การปฏิบัติทันทีเมื่อดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ โดยจะเริ่มใช้ตัวชี้วัดระดับกำกับ (RI) ทั้ง 19 ตัวดังกล่าว และระบบ Dashboard ในการกำกับดูแล ติดตามและประเมินผลการดำเนินการของผู้ประกอบการขนส่งทางรางทุกระบบต่อไป เพื่อเป็นการยกระดับและส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยสู่มาตรฐานระดับสากล เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางราง ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลซึ่งมุ่งพัฒนาให้ระบบขนส่งทางรางเป็นระบบการเดินหลักของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment