รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้ารถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีเหลือง - สายสีชมพู

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยานนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้าง แผนการพัฒนาโครงการฯ ในอนาคต การเชื่อมต่อกับโครงการขนส่งมวลชนอื่น ๆ และความพร้อมของขบวนรถต่าง ๆ รวมถึงแผนการเตรียมเปิดให้บริการเดินรถ

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เริ่มต้นจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ที่สถานีกลันตัน (YL12) และสำรวจความคืบหน้าของสถานี พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินการก่อสร้างโครงการ จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ที่สถานีมีนบุรี (PK30) เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินการก่อสร้างและความคืบหน้าโครงการ ก่อนร่วมทดสอบการเดินรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพูจากสถานีมีนบุรี (PK30) ไปยังสถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ (PK28) และเดินทางกลับเข้าสู่อาคารศูนย์ซ่อมบำรุง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี เป็นโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) โดยกำหนดให้เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) ที่ก่อสร้างเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง 2 สายแรกของประเทศไทย เมื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทางแล้วเสร็จ จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วยให้ประชาชนเดินทางจากชานเมืองสู่ใจกลางเมืองได้แบบไร้รอยต่อ เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล

สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่พบในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี พบว่าบางพื้นที่มีสาธารณูปโภคตามแนวเส้นทางก่อสร้างอยู่ด้วย ส่งผลให้การก่อสร้างมีความล่าช้า ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้เร่งประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การก่อสร้างเดินหน้าได้อย่างราบรื่นแล้วเสร็จตามกำหนด และดำเนินการคืนพื้นที่โดยเร็วเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร ลดผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนให้มากที่สุด พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) และการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่มีความหมาะสม เป็นธรรม

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่แยกรัชดา - ลาดพร้าว บริเวณหน้าอาคารจอดแล้วจร สถานีลาดพร้าว ของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ไปตามแนวถนนลาดพร้าว ถึงทางแยกบางกะปิ เข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ ข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 ผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดม แยกศรีเอี่ยม แยกศรีเทพา เข้าสู่ถนนเทพารักษ์ และสิ้นสุดที่บริเวณแยกเทพารักษ์ รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 30.4 กิโลเมตร ประกอบด้วย สถานีทั้งหมด 23 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง มีการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าอีก 4 สาย ประกอบด้วย 1) สถานีลาดพร้าว (YL01) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) 2) สถานีแยกลำสาลี (YL09) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 3) สถานีหัวหมาก (YL11) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์และรถไฟทางไกลสายตะวันออก 4) สถานีสำโรง (YL23) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี มีจุดเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณถัดจากศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ผ่านแยกแครายเข้าสู่ถนนติวานนท์ ตัดเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะที่บริเวณใกล้กับ ห้าแยกปากเกร็ด ผ่านแยกหลักสี่ เข้าสู่ถนนรามอินทราจนถึงแยกมีนบุรี เลี้ยวขวาสู่ถนนรามคำแหง ซึ่งมีสถานีสุดท้ายที่บริเวณใกล้ซอยรามคำแหง 192 ระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 30 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่งและอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง มีการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าอีก 4 สาย ประกอบด้วย 1) สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) 2) สถานีหลักสี่ (PK14) เชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต 3) สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต 4) สถานีมีนบุรี (PK30) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

โดยความคืบหน้า ณ ปัจจุบันของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีความคืบหน้าในภาพรวมคิดเป็นร้อยละ 92.93 แบ่งเป็นงานโยธา ร้อยละ 93.42 และงานระบบรถไฟฟ้าร้อยละ 92.29 รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความคืบหน้าในภาพรวมคิดเป็นร้อยละ 88.51 แบ่งเป็นงานโยธา ร้อยละ 90.06 และงานระบบรถไฟฟ้าร้อยละ 87.02 ขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้รับมอบขบวนรถแล้ว 28 ขบวน จากทั้งหมด 30 ขบวน และรถไฟฟ้าสายสีชมพูได้รับมอบขบวนรถแล้ว 26 ขบวนจากทั้งหมด 42 ขบวน และในส่วนขบวนรถไฟฟ้าที่เหลือจะจัดส่งถึงประเทศไทยได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2565 สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และในเดือนตุลาคม 2565 สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทาง อยู่ระหว่างทดสอบการเดินรถ และมีแผนกำหนดการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) เริ่มภายในเดือนตุลาคม 2565 ก่อนจะเปิดให้บริการบางช่วงอย่างเป็นทางการในไตรมาสแรกของปี 2566


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment