การระบายความรู้สึกของนายกรัฐมนตรีต่อหน้าสื่อเรื่องการทำลายเกียรติเป็นความคับข้องใจที่เข้าใจได้

บทบาทของสื่อในการนำเสนอภาพและเรื่องของผู้นำการเมือง มีส่วนสำคัญที่ทำให้ภาพที่ออกมาดูดีหรือดูแย่ได้

ในอดีต ความสามารถนี้จำกัดอยู่แค่ในสื่อหลักหรือที่เรียกว่าสื่อมวลชนที่คนติดตามจำนวนมาก เป็นอำนาจที่สื่อใช้เพื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณะชนหรือไม่ก็ใช้ทิ่มตำฝ่ายการเมืองที่สื่อเห็นว่าไม่เข้าท่า

ที่ผ่านมาเคยรู้สึกสลดใจบ่อยครั้ง เมื่อเห็นการล้อเลียนบุคคลสำคัญของรัฐบาล ไม่ว่าจะลงภาพที่ไม่น่าดู เขียนภาพล้อเลียน หรือเอาภาพที่มีคนลบหลู่มาลงซ้ำๆ .. ความรู้สึกคือคนเหล่านั้นเป็นตัวแทนของคนไทยที่เลือกมา ไม่ว่าจากพรรคไหน ชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เขาคือภาพของผู้นำของประเทศ

ในยุคของสื่อสังคม ความสามารถนี้ได้ขยายไปสู่มือของนักเลงคีย์บอร์ดจำนวนมาก และเป็นเรื่องที่ก.ม.เอาผิดได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อมันมีส่วนจริงหรือเป็นความจริง

ฝ่ายที่ได้เปรียบทางการเมืองดูเหมือนสะใจและรู้สึกชอบธรรม หารู้ไม่ว่านี่เป็นดาบสองคมที่มันย้อนเข้าหาตัวได้ทุกเมื่อๆ กระแสตีกลับ ... กว่าจะรู้ตัว สังคมก็เสพติดกับการทำ Character Assassination เสียแล้ว

สักสี่ห้าสิบปีก่อน นักนิเทศสายวิพากษ์ตื่นตัวกันเรื่องรู้เท่าทันสื่อ เป้าหมายยุคนั้นมักเป็นเรื่องของการรู้เท่าทันโฆษณาที่หลอกเด็กให้ซื้อน้ำหวานหรือเห่อแฟชั่น

แต่ในโลกเงียบของความเป็นจริง สื่อถูกใช้ไปในทางการเมืองเพื่อปล้นชาติช่วงชิงอำนาจปกครองประเทศโดยน้อยคนนักที่จะรู้ทัน มีกรรมวิธีหลักๆ คือ

1. การประโคมโหมเรื่องหรือปัญหาจนใหญ่โตเกินจริง สร้างเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องโต จนที่สุดการเคลื่อนไหวก็ปูทางไปสู่การเมืองบนท้องถนนหรือจราจล

2. การนำเสนอเรื่องเดิมซ้ำๆ ซากๆ ไม่ชี้ทางแก้ปัญหา บรรยายสิ่งที่เกิดการเหมือนบ่น ไม่ชี้ทางแก้ ไม่พูดถึงหลักการที่ควรเป็น จนที่สุดสังคมก็ล้า ไม่ใส่ใจ เช่นเรื่องคอรับชั่นหรือการแทรกแซงทางการเมือง

3. ลบหลู่กันทางการเมือง ทำลายความน่าเชื่อถือ เช่นลงภาพที่น่าเกลียด น่าตลกขบขันของผู้นำการเมือง ประโคมเรื่องที่ส่อไปในทางฉาวโฉ่ นักการเมืองที่มีจุดอ่อนเรื่องบุคคลิกหรือเรื่องส่วนตัว กลายเป็น ซอฟ ทาร์เก็ต หรือตำบลกระสุนตกได้ง่าย

4. การเลือกฝ่ายทางการเมือง กรณีนี้จะออกข่าวแต่ฝ่ายที่ตนเลือก ข่าวดีเป็นของฝ่ายตน ข่าวร้ายลงให้ฝ่ายตรงข้าม สื่อจะพูดเรื่องความดีงาม ประโยชน์ที่สังคมจะได้ แต่ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นกลาง การนำเสนอหลายด้าน .. ยอมตนเป็นกระบอกเสียง

5. ออกข่าวเท็จ ถ้าไม่กุข่าวเองก็ไปเอาข่าวกุจากแหล่งของพวกตัวมานำเสนอเหมือนเป็นข่าวจริง รับผิดชอบกับพวกตัวแต่ไม่รับผิดชอบกับสังคม

6. สร้างความเกลียดชัง ดูหมิ่นเหยียดหยามฝ่ายตรงข้ามออกสื่อ ขึ้นมึงกู จิกหัวเรียก ด่าตรงด่าอ้อม ใส่อารมณ์คุกคาม

ที่ว่ามาข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของแม่ไม้หลักในการนำเสนอผ่านสื่อ ที่มาวันนี้สื่อภาคประชาชนได้ฝึกปรือกันทั่วไปแล้วในสื่อสังคม ใครที่สอนเรื่องรู้เท่าทันสื่อ ควรรู้จักแม่ไม้เหล่านี้ก่อนจะวิเคราะห์ลงไปถึงแรงจูงใจและมองแยกข้างให้เป็น

นี่เป็นการปล้นชิงเอาบ้านเมือง มิใช่เรื่องโฆษณาน้ำหวาน ชูกำลัง ที่ย้ายเงินจากกระเป๋าเสี่ยไปเข้ากระเป๋าเจ้าสัว

เราท่านไม่ได้เป็นแค่ผู้ชมวงนอก แต่เป็นผู้รับผลได้ผลเสียในสังคมนี้

ดร. พนา ทองมีอาคม


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment