CMMU ผนึก EXIM BANK เคาะ 3 กลไก หนุนศักยภาพเด็กไทย สร้างธุรกิจทันทีหลังเรียนจบ

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ร่วมกับ EXIM BANK พัฒนานักศึกษาสู่นักธุรกิจตัวจริง ผ่าน 3 ด้านหลัก

รศ. ดร. วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดเผยว่า CMMU ได้ร่วมมือกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินระดับแนวหน้าของประเทศ ที่ครบครันด้วยทรัพยากร วิสัยทัศน์ และองค์ความรู้ที่เป็นเลิศทางด้านการเงินและภาคปฏิบัติในโลกธุรกิจ จึงมั่นใจในการระดมพลังในการส่งต่อแรงกระเพื่อมเพื่อพัฒนานักศึกษา ศิษย์เก่าของ CMMU ที่มีความสนใจประกอบธุรกิจต่างๆ จากโลกการศึกษา ให้สามารถเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ในโลกการทำธุรกิจจริงได้ อันเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ องค์กร และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านความร่วมมือ 3 ด้านหลัก ดังนี้ 1. การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้วิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศและการส่งออก จัดกิจกรรมการสอนและการอบรมให้ความรู้สำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนในประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐ อาทิ S-Curve EEC 2. การบริหารจัดการองค์กรและการบริหารจัดการด้านนวัตกรรม จัดสัมมนาทางวิชาการ การจับคู่ธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยแลกเปลี่ยนความรู้ การวิจัยข้อมูลร่วมกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และ 3. การเข้าถึงช่องทางบริการทางการเงินด้านต่างๆ มีช่องทางในการสร้างโอกาสกับสถาบันการเงินทั้งระหว่างเรียนและจบการศึกษา

ทั้งนี้วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้การเรียนการสอนในระดับชั้นปริญญาโท และปริญญาเอก ด้านการจัดการ ทั้งในหลักสูตรไทยและหลักสูตรนานาชาติโดยเป็น Business School เพียง 5% ของโลกเท่านั้นที่ได้รับการรับรองจากสถาบัน AACSB ซึ่งเป็นสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีระดับสากล และจากพันธกิจที่ต้องการพัฒนานักศึกษาของ CMMU ให้เป็นผู้เล่นตัวจริง MVP ที่มีศักยภาพสูงออกสู่ภาคธุรกิจรับปี 2565 และจะเข้มข้นยิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไปนั้น วิทยาลัยฯ จึงชูสาขาหนึ่งในหลักสูตรไทย คือ สาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Entrepreneurship and Innovation: EI) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการใหม่ และผู้ประกอบการที่ต้องการไปต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีอยู่ด้วยแนวคิดความคิดที่แตกต่าง โดยปัจจุบันได้มีการสร้างผู้ประกอบการมากว่า 500 คน ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสภาพเศรษฐกิจในประเทศ จึงมีแนวความคิดในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ผู้ประกอบการ Startups SMEs หรือ IDEs (Innovation-Driven Entrepreneurs) นั้นสามารถที่จะทรานส์ฟอร์มธุรกิจของตนเองได้ และสามารถที่จะขยายธุรกิจไปสู่โอกาสที่ใหญ่กว่าโอกาสในประเทศได้

ด้าน ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับ CMMU มีเป้าหมายเพื่อสานพลังความร่วมมือในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารจัดการธุรกิจด้วยนวัตกรรมป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจ โดย EXIM BANK พร้อมสนับสนุนทั้งความรู้และเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทย เพื่อเพิ่มจำนวนนักรบเศรษฐกิจไทยในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันใช้ความสามารถพิเศษขององค์กรเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืนในโลกยุค Next Normal กระตุ้นและผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยมีความคล่องตัว (Agility) ในการตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป มีความยืดหยุ่น (Resilience) ในการนำความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตมาพัฒนาธุรกิจ และปิดช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ตลอดจนพร้อมปรับเปลี่ยนหรือแปลงร่างธุรกิจ (Transformation) ตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงกระบวนการดำเนินธุรกิจให้สอดรับและก้าวทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment