บำรุงราษฎร์ ชูเทคโนโลยีใหม่ ReLEx SMILE รักษาปัญหาสายตาสั้นและเอียง

พญ. ฐาริณี กุลกำม์ธร จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า บำรุงราษฎร์ ได้นำเทคโนโลยีล่าสุดในการผ่าตัดแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ที่พัฒนาต่อยอดมาจากเลสิก หรือ นวัตกรรมรีเลกส์ สมายล์ (ReLEx SMILE) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ไร้ใบมีดใช้ในการผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้นและสายตาเอียง จะมีแผลเปิดที่กระจกตาเล็กมากประมาณ 2-4 มิลลิเมตร เพื่อปรับความโค้งของกระจกตาให้เหมาะสมกับค่าสายตาที่ต้องการแก้ไข โดยไม่กระทบกระเทือนกระจกตาชั้นบนและเส้นประสาทที่ผิวกระจกตา ทำให้แผลหายเร็วและสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ หลังจากผ่าตัดเพียง 1-2 วัน จะได้ค่าสายตาหลังการผ่าตัดที่มีความแม่นยำ วิธีนี้ไม่มีการตัดฝากระจกตาทำให้ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ฝากระจกตาตัดไม่สมบูรณ์ หรือฝากระจกตาเคลื่อน เป็นต้น​ เหมาะกับผู้ที่ไม่อยากใส่แว่น หรือคอนแทคเลนส์ โดยเป็นผู้ที่มีสายตาสั้นตั้งแต่ 50 ถึง 1000 (หรือ -10.00 D) และสายตาเอียงถึง 500 (-5.00 D)

ในขณะที่ยังมีเทคโนโลยีอื่น อาทิ การทำ Femtosecond LASIK เป็นการรักษาภาวะสายตาผิดปกติ โดยเป็นการตัดฝากระจกตาแบบไม่ใช้ใบมีด ด้วยเครื่อง Visumax Femtosecond Laser ร่วมกับเครื่อง Excimer laser (MEL90) ในการปรับแต่งความโค้งกระจกตา และปิดฝากระจกตากลับโดยไม่จำเป็นต้องเย็บแผล ​

การทำ PRK (Photorefractive Keratectomy) สำหรับรักษาภาวะสายตาสั้น สายตายาวแต่กำเนิดและสายตาเอียง อีกทั้งเป็นวิธีทางเลือกสำหรับผู้มีกระจกตาบาง หรือไม่เหมาะสมกับการเลเซอร์ด้วยวิธีอื่น โดยใช้เครื่อง excimer laser ขัดที่ผิวกระจกตาโดยตรง และไม่มีการแยกชั้นกระจกตา ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดแก้ไขสายตาวิธีแรกๆ และจำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์เพื่อลดอาการระคายเคืองหลังผ่าตัดประมาณ 3-5 วัน

การผ่าตัดด้วยเทคนิค Monovision สำหรับผู้ที่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป อาจพบกับปัญหาสายตายาวตามอายุ ทำให้การมองในที่ใกล้ลดลง โดยการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้เป็นการรักษาเพื่อช่วยให้มองเห็นชัดทั้งใกล้และไกล สามารถทำได้ด้วยวิธี ReLEx SMILE, Femtosecond LASIK และ PRK โดยการตั้งค่าเลเซอร์ให้ตาหนึ่งข้างมองชัดในที่ไกล ส่วนอีกข้างมองชัดในที่ใกล้ในผู้ที่สายตายาวตามอายุ ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสม​

ทั้งนี้ จักษุแพทย์จะเป็นผู้ตรวจตาและวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อนที่จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสม พร้อมให้ข้อมูลรายละเอียดของวิธีการรักษาต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ที่มีภาวะสายตาผิดปกติและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมเฉพาะรายบุคคลเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในการรักษา

พญ. ฐาริณี ยังกล่าวให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพตา ที่ผ่านมาเรามักจะละเลยความสำคัญในการถนอมดวงตา ซึ่งถือเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อนมากที่สุดอย่างหนึ่ง เนื่องจากอาจเสื่อมหรือบกพร่องจากเหตุปัจจัยต่างๆ ได้ เช่น อายุ อาชีพการงาน การเล่นกีฬา โภชนาการ สภาวะแวดล้อม และสุขภาพด้านอื่นของร่างกายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของตา เช่น โรคเบาหวาน โรคต้อกระจก ฯลฯ จึงควร ‘ตรวจสุขภาพตา’ เป็นประจำทุกปี โดยเริ่มตรวจได้ตั้งแต่วัยเด็กก่อนเข้าเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะทุกวันนี้มีแนวโน้มพบเด็กที่มีภาวะสายตาสั้นในอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ

ข้อควรปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คือ ควรจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา ทำให้ตาไม่แห้ง และควรพักสายตาจากการจ้องจอมอนิเตอร์เป็นเวลานานๆ โดยใช้หลัก 20 20 20 คือ ทุกๆ 20 นาที ของการมองใกล้ เช่น มือถือ คอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ โดยให้พักสายตาประมาณ 20 วินาที โดยมองไปที่ไกลในระยะ 20 ฟุต เพื่อคลายกล้ามเนื้อตา ทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่ปวดกล้ามเนื้อตา ที่สำคัญควรหาเวลาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างน้อย 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพราะจากการวิจัยระบุว่าแสงแดดจะสามารถป้องกันไม่ให้เด็กสายตาสั้นมาก เพราะในแสงแดดจะมีสารที่ไปยับยั้งไม่ให้ลูกตายาวเกินปกติ เพราะการที่ลูกตายาวเกินไปเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การโฟกัสตกก่อนจอประสาทตา ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นได้

สำหรับสายตาผิดปกติที่พบได้ทั่วไป แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง และสายตายาวสูงอายุ โดยภาวะสายตาสั้นเป็นปัญหาที่พบได้มากที่สุดในทุกเพศ ทุกวัย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในเด็กเล็กจนถึงเด็กวัยเรียน ซึ่งภาวะสายตาสั้น หรือ Myopia คือความผิดปกติในระบบหักเหแสงและรวมแสงของดวงตา โดยแสงจากวัตถุที่มองในระยะไกลจะโฟกัสก่อนถึงประสาทตา ทำให้ผู้ที่สายตาสั้นจึงมองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลเป็นภาพมัวๆ ไม่ชัด เนื่องจากกระบอกตายาวกว่าปกติ หรือกระจกตาโค้งมากกว่าปกติ อีกทั้งมักพบอาการสายตาเอียงร่วมกับสายตาสั้น โดยสถิติพบว่ากว่า 50% ของผู้มีปัญหาสายตา มักมีค่าสายตาเอียงร่วมด้วย ซึ่งสายตาเอียงเกิดจากการที่กระจกตามีความโค้งไม่เท่ากันในแต่ละแกน ทำให้เกิดจุดโฟกัส 2 จุด ไม่รวมเป็นภาพเดียว มีจุดหนึ่งโฟกัสที่ก่อนหรือหลังจอประสาทตา ทำให้ภาพที่เห็นจะทั้งเบลอและมีเงา หรือเป็นภาพซ้อน ซึ่งประสิทธิภาพการมองวัตถุแย่กว่าอาการสายตาสั้นหรือสายตาเอียงเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2050 ทั่วโลกจะมีประชากรกว่า 50% หรือประมาณ 5,000 ล้านคน จะเป็นผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น และประมาณ 900 ล้านคนจะมีปัญหาสายตาสั้นมากกว่า 500 (หรือค่าสายตา -5.00 diopter) ขึ้นไป ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล ออกนอกบ้านน้อยลง จดจ่อกับโทรศัพท์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์มากขึ้น รวมถึงพันธุกรรมจากพ่อแม่ที่สายตาสั้นทั้งคู่ จะส่งผลให้ลูกมีโอกาสสายตาสั้น สูงกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment