{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2565 ระดับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มอาจเติบโตราว 3.1% (เมื่อเทียบกับปีก่อนขยายตัว 0.4%) จากสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ตึงเครียดและส่งผลกระทบชัดเจนมากขึ้นต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ โดยกลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตของระดับราคาสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มาก ได้แก่
1) กลุ่มน้ำมันพืช: โดยคาดว่าทิศทางราคาน้ำมันพืชปี 2565 มีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 ทั้งน้ำปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง สวนทางกับปริมาณการผลิตที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก
2) กลุ่มเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (ผลิตภัณฑ์นมและไข่): โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกร ที่คาดว่าปี 2565 ราคาก็น่าจะยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2564 จากจำนวนผลผลิตสุกรที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับต้นทุนอาหารสัตว์ (อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง) ซึ่งส่วนใหญ่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะปรับราคาสูงขึ้น ตลอดจนต้นทุนในการบริหารจัดการภายในโรงงานที่ปรับสูงขึ้น อาจส่งผลให้ธุรกิจปลายน้ำที่นำวัตถุดิบไปใช้อย่าง ธุรกิจร้านอาหาร โรงงานอาหารแปรรูป/สำเร็จรูป เผชิญความท้าทายด้านต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
3) กลุ่มเครื่องดื่ม (ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์) แม้ว่าภาครัฐยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ด้วยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบต้นน้ำ อาทิ มอลต์ (สกัดจากธัญพืช อาทิ บาร์เลย์ ข้าวสาลี เป็นต้น) ราคาบรรจุภัณฑ์ (กระป๋อง) รวมถึงต้นทุนด้านขนส่ง อาจส่งผลให้สินค้าในบางรายการมีโอกาสขยับราคาขึ้นได้ อาทิ เบียร์ น้ำอัดลม เป็นต้น
ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัวของระดับราคาในสัดส่วนที่รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์จากพืชผลการเกษตร อาทิ ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช (อาทิ ข้าว ขนมขบเคี้ยว ขนมปัง) คาดว่าด้วยผลผลิตในปีนี้จะออกมาสู่ตลาดมาก อาจส่งผลให้ระดับราคาเติบโตได้อย่างจำกัดในกรอบแคบๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล อาหารสำเร็จรูป ปลาและอาหารทะเล เนื่องจากการผลิตส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศมากกว่าการนำเข้า อีกทั้งในบางสินค้ามีการลดการผลิตลงให้สอดรับกับสภาพตลาด ดังนั้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าพลังงานและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ระดับของผลกระทบคงมีน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ
ในมิติของการบริโภค ภายใต้สถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้นและการแข่งขันของธุรกิจที่รุนแรง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของระดับการบริโภคสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในปี 2565 คงจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยที่ 0.6% (เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัว 2.1%)
โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่า ปริมาณการบริโภคจะอยู่ในระดับทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อย ได้แก่ ผัก ผลิตภัณฑ์จากนมและไข่ ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าอาหารพื้นฐานที่ยังจำเป็นต่อการบริโภค ซึ่งผู้บริโภคยังสำรองงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายอยู่ นอกจากนี้ แม้แนวโน้มของต้นทุนการผลิตจะขยับขึ้น แต่ในหลายรายการยังเป็นสินค้าควบคุม ทำให้คาดว่าผู้บริโภคจะไม่จำกัดการซื้อมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าอื่นๆ
ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่า ปริมาณการบริโภคน่าจะหดตัว ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม (ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์) ผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล อาหารสำเร็จรูป ปลาและอาหารทะเล ผลไม้ เนื่องจากอยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาจำหน่ายสูงและมีความจำเป็นรองลงมา รวมถึงกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มของราคาเพิ่มสูงต่อเนื่อง อาทิ เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช ซึ่งคาดว่าผู้บริโภคอาจจำกัดการซื้อลงบ้าง เพื่อให้อยู่ภายใต้งบประมาณที่มีอย่างจำกัด
ภายใต้ข้อจำกัดด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจนกระทบกับระดับราคาสินค้า แต่ด้วยสินค้าอาหารและเครื่องดื่มถือเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน สะท้อนจาก บทบาทของปริมาณการใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่มีอยู่ราว 21% ของปริมาณการบริโภคของภาคเอกชน ทำให้คาดว่า ภายใต้กำลังซื้อผู้บริโภคที่มีจำกัด ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะยังสำรองงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นหลัก แต่จะพยายามควบคุมงบประมาณและระมัดระวังกับการใช้จ่ายในหมวดสินค้าและบริการอื่นๆ อาทิ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ร้านอาหารและโรงแรม เป็นต้น
จากปัจจัยข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในปีนี้ โดยเบื้องต้นคาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่มในประเทศปี 2565 อาจอยู่ที่ระดับ 2.57-2.59 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.9%-2.7% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ขยายตัว 2.5% โดยการเติบโตของมูลค่าตลาดมาจากผลด้านราคาเป็นหลัก (ซึ่งขยายตัวราว 3.1%YoY) จากต้นทุนการผลิตที่ขยับขึ้นและส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาจำหน่าย ในขณะที่ระดับการบริโภคในภาพรวมอาจทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อย (ที่ 0.6%YoY) อย่างไรก็ดี อาจต้องติดตามสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนและสถานการณ์โควิดอย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนการผลิตและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้อีก โดยจากผลกระทบต้นทุนการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภค โดยคาดว่าผู้บริโภคจะให้น้ำหนักต่องบประมาณในการใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไปตามความจำเป็น ดังนี้
1. กลุ่มสินค้าที่คาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า คือ น้ำมันพืช เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนมและไข่ โดยเป็นผลมาจากราคาเป็นหลัก ขณะที่ปริมาณการบริโภคอาจลดลงได้ไม่มาก หรืออาจจะมีการปรับตัวโดยการบริโภคสินค้าอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันที่มีราคาต่ำกว่าทดแทน เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็น และคาดว่าผู้บริโภคน่าจะยังคงสำรองงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายสินค้ากลุ่มนี้อยู่
2. กลุ่มสินค้าที่คาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายจะขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนหน้า คือ ผัก ผลไม้ และอาหารสำเร็จรูป ซึ่งเป็นผลมาจากราคาเป็นหลักเช่นกัน แต่เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้น่าจะมีความจำเป็นรองลงมาเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก ทำให้ผู้บริโภคอาจสามารถลดปริมาณการซื้อลง เพื่อให้เพียงพอกับงบประมาณที่ได้ตั้งไว้ ท่ามกลางกำลังซื้อที่มีจำกัด
3. กลุ่มสินค้าที่คาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายจะขยายตัว โดยเป็นผลของราคาที่ขยับขึ้น ประกอบกับฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่ปริมาณการบริโภคอาจมีแนวโน้มลดลง คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ปลาและอาหารทะเล รวมถึงผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล
ภายใต้ข้อจำกัดของการทำธุรกิจในปีนี้ แม้ว่ากลยุทธ์ด้านราคาจะช่วยพยุงสภาพคล่องหรือระบายสต็อกสินค้าได้บางกลุ่ม อาทิ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีอายุผลิตภัณฑ์สั้น (อาหารสด อาหารพร้อมทาน ขนมขบเคี้ยว นมสด เครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอล เป็นต้น) แต่ในระยะข้างหน้า การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและบริการ น่าจะเป็นแนวทางการปรับตัวที่สร้างความยั่งยืนกับธุรกิจ ท่ามกลางความท้าทายทั้งในเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบ แนวโน้มของการปรับขึ้นภาษีเพื่อคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภค (อาทิ ภาษีความเค็ม ภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่ภาษีความหวานจะขยับอัตราขึ้นตามที่กำหนดไว้) การเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งอยู่นอกอุตสาหกรรมที่สนใจเข้ามาลงเล่นในธุรกิจนี้มากขึ้น อาทิ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ฟังก์ชั่นนอลและสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมองหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตอาหาร อาทิ เทคโนโลยี Industrial Internet of Things (IIoT) การบริหารจัดการลดต้นทุนการผลิต/บริหารสต็อกสินค้า/ระบบขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการให้ความสำคัญกับนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) ซึ่งจะกลายเป็นกลยุทธ์การรับมือที่สอดรับไปกับเทรนด์การบริโภคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างยั่งยืน
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS