EEC จับมือ "ม.บูรพา-Wefly-PUC Group" พัฒนาหลักสูตรช่างซ่อมอากาศยาน รองรับศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา (BUUIC) และ บริษัท พียูซี กรุ๊ป จำกัด (PUC Group Co.,Ltd.) ร่วมกับ บริษัท วีฟลาย แอโร จำกัด (Wefly Aero Co.,Ltd.) ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (Partnership Agreement) ในการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO (Maintenance Repair & Overhaul) โดยมีผู้ร่วมลงนามฯ ประกอบด้วย รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา, ผศ.ดร.ปริญญา นาคปฐม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา, คุณกั๋ว โชง จง ประธานคณะกรรมการบริษัท วีฟลาย แอโร จำกัด, คุณสุรพันธ์ ธีรสัจจานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พียูซี กรุ๊ป จำกัด และ ดร.หม่อมหลวงสุนทรชัย ชยางกูร ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผศ.ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมเป็นสักขีพยาน

คุณสุรพันธ์ ธีรสัจจานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พียูซี กรุ๊ป จำกัด ซึ่งทำหน้าที่หลักในการวางแผน ออกแบบ และพัฒนาหลักสูตร กล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ ว่าจะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ด้วยความร่วมมือดังกล่าวกับ บริษัท วีฟลาย แอโร จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันจัดหลักสูตรด้านธุรกิจการบินและอากาศยาน มุ่งเน้นการสร้างบุคลากรด้านช่างซ่อมบำรุงอากาศยานที่ผ่านการฝึกอบรมและได้รับการรับรองจากองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป หรือ EASA (European Union Aviation Safety Agency) และยังเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนามุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation รวมถึงการเป็น “มหานครการบินภาคตะวันออก" ศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค

คุณกั๋ว โชง จง ประธานคณะกรรมการบริษัท วีฟลาย แอโร จำกัด กล่าวว่า อาชีพ “ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน” ถือเป็นอีกหนึ่งสายงานที่กำลังขาดแคลนเช่นเดียวกันกับอาชีพนักบิน ก่อนหน้านี้บริษัทผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกประมาณการณ์ความต้องการบุคลากรซ่อมบำรุงอากาศยานในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั่วโลกมีความต้องการอีกกว่า 600,000 คน ขณะที่อุตสาหกรรมการบินของไทย มีความต้องการช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ประมาณ 400 คนต่อปี แต่ในปัจจุบันยังผลิตได้น้อยกว่าเป้าหมายมาก ทั้งนี้หลังจากยุคหลังการระบาดโควิด-19 (Post-Pandemic) ทั่วโลกเริ่มทยอยกลับมาผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง และเมื่ออุตสาหกรรมการบินกลับมาฟื้นตัว การพัฒนากำลังบุคลากรให้ทันสอดรับกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ปริญญา นาคปฐม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า สำหรับหลักสูตร EASA Engineer Course นี้เป็นการเรียน Basic Training Course Part 66 B1.1 & A1 โดยเรียนทั้งสิ้น 12 Modules แบ่งการเรียนการสอนเป็นภาคทฤษฎี 260 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติอีก 540 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 800 ชั่วโมง เรียนวันละ 6 ชั่วโมง ใช้เวลาเรียนรวม 6 เดือน โดยผู้ที่จบการศึกษาหลักสูตร EASA Engineer Course Part 66 B1.1 & A1 จะได้รับประกาศนียบัตร (Certificate) เพื่อเป็นใบเบิกทางในการสมัครเข้าทำงาน โดยสามารถเลือกเก็บประสบการณ์อีก 1 ปี เพื่อไปสอบ Aircraft Maintenance License Category A1 และเก็บประสบการณ์อีก 2 ปี เพื่อไปสอบ Aircraft Maintenance License Category B1.1

ในปี 2565 นี้ ทางวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา จะเริ่มเปิดรับสมัครผู้เข้าอบรมทั้งหมด 4 รุ่น รุ่นละ 45 คน กำหนดเปิดการเรียนการสอนภายใน ไตรมาส 3 ปี 2565 พร้อมตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้านซ่อมบำรุงอากาศยาน ในปีการศึกษา 2565 ให้ได้ 180 คน และในปีการศึกษา 2566 อีก 400 คน คาดว่าจะสามารถผลิตบุคลากรด้านช่างซ่อมบำรุงอากาศยานจำนวนไม่ต่ำกว่า 800 ถึง 1,000 คนภายในระยะ 3 ปี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจหลักสูตร EASA Engineer Course (หลักสูตรระยะ 6 เดือน) สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา โทรศัพท์: 038 102571-2 ต่อ 126 (คุณสุทธิจิตต์ รอดผัน) Email: reskillbuuic@gmail.com หรือ pucgroup@hotmail.com หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://buuic.buu.ac.th


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment