ส่งออกรถปี 65 ติดลบมากกว่า 6%...สงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบทั้งอุปสงค์และอุปทาน

สงครามรัสเซีย-ยูเครน เพิ่มปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์โลก ขณะที่อีกด้านก็กดดันกำลังซื้อผู้บริโภคในตลาดโลกจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กำลังปะทุอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศคู่พิพาทที่สู้รบกันเท่านั้น ทว่าผลจากภัยสงคราม มาตรการคว่ำบาตร และการตอบโต้ต่างๆ ระหว่างกันที่เกิดขึ้น ทำให้ปัจจุบันผลกระทบได้ลุกลามไปถึงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจากทั้ง 2 ประเทศนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยในระยะเริ่มต้นของสงคราม แม้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากจะเป็นค่ายรถที่มีฐานการผลิตทั้งในรัสเซียและยุโรปที่พึ่งพิงวัตถุดิบและชิ้นส่วนรถยนต์ในการผลิตจากรัสเซียและยูเครนสูงกว่าฐานการผลิตอื่น แต่ด้วยภาวะสงครามที่ยังคงยืดเยื้อไม่รู้จุดจบ กำลังส่งผลกระทบในวงกว้างออกไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก

โดยมีสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ (1) ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนผลิตรถยนต์ทั่วโลกที่จะกลับมาทวีความรุนแรงขึ้นอีก ซึ่งนอกเหนือจากการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในยูเครนและรัสเซียไม่สามารถผลิตและส่งมอบได้จนทำให้ค่ายรถในยุโรปต้องระงับการผลิตลงทันทีในหลายประเทศแล้ว ยังมีวัตถุดิบอีกหลายตัวสำหรับการผลิตชิปอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในรถยนต์ของค่ายต่างๆ ทั่วโลกที่ไม่สามารถออกมาจากแหล่งผลิตหลักในยูเครนและรัสเซียได้ จึงยิ่งกดดันให้ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตที่มีอยู่แล้วทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคารถยนต์ในหลายๆ ประเทศปรับเพิ่มขึ้น และ (2) ปัญหากำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยหลังจากที่รัสเซียโดนมาตรการคว่ำบาตรและได้มีการตอบโต้ด้วยการงดการส่งออกสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ต่างๆ รวมถึงสินค้าเกษตรอีกหลายรายการซึ่งรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกหลักของโลก ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกเกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต่างมีกำลังซื้อลดลง รถยนต์ซึ่งอยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยราคาสูงจึงมีโอกาสเป็นสินค้ากลุ่มแรกๆ ที่จะได้รับผลกระทบ

ส่งออกรถยนต์ไทยปี 2565 คาดหดตัว...การผลิตที่ลดลงจากปัญหาชิ้นส่วนขาดกดดันภาพรวม แม้อาจได้อานิสงส์จากตลาดผู้ผลิตน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่รายได้เพิ่ม

ทั้งนี้ ปัจจัยกดดันหลักทั้ง 2 เป็นสิ่งที่ฐานการผลิตส่วนใหญ่ทั่วโลกต้องเผชิญ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากลับมาที่ไทย ผลกระทบที่ได้รับอาจไม่รุนแรงเท่าฐานผลิตในแถบยุโรป เมื่อ (1) ตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยรวมมูลค่ามากกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออกรวม เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดอื่นที่ได้รับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เช่น กลุ่มประเทศโอเปกและออสเตรเลียที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากอานิสงส์ของการเป็นผู้ผลิตน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งกำลังมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้โดยรวมแล้วคาดว่าผลกระทบในแง่อุปสงค์ที่ชะลอลงจากตลาดส่งออกของไทยอาจไม่รุนแรงมาก อย่างไรก็ตาม (2) แม้ชิ้นส่วนที่ใช้ในไทยจะมาจากคนละแหล่งกับฐานผลิตในยุโรปและค่ายรถเองมีการสต๊อกชิ้นส่วนไว้แล้วระดับหนึ่ง ทำให้ค่ายรถในไทยพอจะจัดการกับสถานการณ์นี้ได้ในระยะสั้น ทว่าปัญหาสงครามและผลของการคว่ำบาตรที่ยืดเยื้อจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนลุกลามไปทั่วโลก และกระทบกับการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกของไทยโดยรวมทั้งปีได้

ทำให้โดยรวมแล้วศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การส่งออกรถยนต์ของไทยไปต่างประเทศในปี 2565 นี้อาจทำได้เพียง 850,000 ถึง 900,000 คัน หรือติดลบ 6.0% ถึง 11.0% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ส่งออกได้ถึง 959,194 คัน และลดลงกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยมองไว้ก่อนที่จะมีสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ 1,000,000 คัน โดยโอกาสที่จะช่วยพยุงตัวเลขส่งออกในปีนี้ จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ จะยุติลงได้รวดเร็วเพียงใด รวมถึงค่ายรถหน้าใหม่ในไทยอย่างจีนจะสามารถผลิตรถได้เต็มกำลังการผลิตมากขึ้นเพื่อส่งออกตามแผนที่เคยวางไว้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ระดับราคาน้ำมันโลกเพิ่มสูงและมีความไม่แน่นอน นอกเหนือจากการพยุงตัวเลขการส่งออกในปีนี้แล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยอาจจำเป็นต้องมองไปข้างหน้าถึงการแข่งขันในอนาคตและรีบเร่งปรับตัว เมื่อผู้บริโภคเริ่มหันหนีจากรถยนต์ใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์ใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้า และไทยเองก็กำลังมีคู่แข่งในการดึงดูดการลงทุนที่สำคัญ คือ อินโดนีเซีย ที่มีจุดแข็งอย่างการเป็นแหล่งผลิตแร่นิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมีโอกาสจะผงาดขึ้นเป็นหนึ่งฐานผลิตรถยนต์ที่สำคัญและกลายมาเป็นประเทศคู่แข่งในการส่งออกรถยนต์ของไทยในอนาคต


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment