{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้ ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและยังเร่งตัวขึ้น
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเผชิญความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. 2565 เร่งตัวสูงขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 7.9% YoY ตามราคาพลังงาน อาหาร และที่อยู่อาศัย ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนก.พ. 2565 ก็เร่งตัวสูงขึ้นที่ 6.4% YoY ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเงินเฟ้อในเดือนก.พ. 2565 แม้ผลกระทบจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังอยู่ในกรอบจำกัด แต่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ก็อยู่ในระดับสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่งผลให้เฟดคงจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ โดยแม้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจจะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาในฝั่งอุปทานที่เป็นสาเหตุหลักของเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายคงช่วยลดการคาดการณ์เงินเฟ้อและยับยั้งการเกิดวัฏจักรเงินเฟ้อ (inflation spiral) ได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ ตลาดแรงงานในปัจจุบันก็มีความแข็งแกร่งและเข้าใกล้ระดับเต็มศักยภาพ (full employment) โดยอัตราว่างงานเดือนก.พ. 2565 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.9% จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 4.0% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีความพร้อมที่จะรองรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน คาดว่าเฟดคงหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบแข็งกร้าว (hawkish) จนเกินควร ดังนั้น เฟดคงมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพียง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.25-0.50% ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลายลง ในขณะที่มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียยังมีการยกระดับขึ้นไป ซึ่งเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังนั้น เฟดคงต้องติดตามและประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตินี้ในการพิจารณานโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ซึ่งเฟดคงเผชิญสถานการณ์ที่จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะเร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมัน หลังจากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรมีการออกมาตรการคว่ำบาตรระงับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะไปบั่นทอนการใช้จ่ายของครัวเรือนให้อ่อนแอลง และส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวต่ำกว่าที่คาด ดังนั้น เฟดคงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะทรงตัวในระดับสูง และความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่อาจอ่อนแอกว่าที่คาด โดยเฟดคงต้องใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ในการประชุม FOMC ครั้งนี้ จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) ซึ่งคาดว่าเฟดอาจมีการปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อขึ้นและปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ Fed Dot Plot อาจส่งสัญญาณจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ Fed Dot Plot ในเดือนธ.ค. 2564 ได้ส่งสัญญาณไว้ว่าอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียง 3 ครั้งในปี 2565 ในขณะที่ล่าสุด ตลาดยังคงมีมุมมองว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง โดยให้น้ำหนักไปที่ 7 ครั้งมากที่สุด ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.75-2.00% แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในระยะข้างหน้าคงจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้มุมมองต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันได้ โดยหากการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรยังคงยืดเยื้อและมีความรุนแรงอันจะส่งผลกระทบทางลบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง อาจส่งผลให้เฟดอาจจำเป็นต้องชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยกว่าที่ตลาดคาด
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS