รัฐเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันผลิตไฟฟ้า

คลังเผยครม.อนุมัติมาตรการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการทางภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยกว่าร้อยละ 60 ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ (NG) ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ ในปัจจุบันน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามีภาระภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 3.44 บาทต่อลิตร และ 0.64 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต เห็นควรใช้มาตรการทางภาษีมาช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยเสนอให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

“มาตรการภาษีดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 รวมระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ราคา ก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกจะปรับตัวลง และจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาค่าไฟมีแนวโน้มที่จะไม่ปรับตัวสูงขึ้น โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิตเนื่องจากในสถานการณ์ปกติจะไม่มีการนำน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าจึงไม่มีรายได้ภาษีสรรพสามิตในส่วนนี้”


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment