เครื่องจักรกลการเกษตรปี 2565 ยังไปต่อได้ คาดมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 84,600-87,900 ล้านบาท จากปัจจัยหนุนด้านอุปสงค์เป็นสำคัญ

ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยปี 2564 ให้ภาพการเติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี สะท้อนจาก ดัชนีการส่งสินค้าในหมวดเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อการเกษตรในช่วง 11 เดือนแรกของปีที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 42.1 (YoY) จากปัจจัยผลักดันสำคัญในฝั่งของอุปสงค์ที่เกษตรกรมีรายได้ในเกณฑ์ดี อีกทั้ง Pent Up Demand ที่พุ่งขึ้น ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาสินค้าเกษตรในประเทศขยายตัวดี นอกจากนี้ จำนวนแรงงานกลับถิ่นที่ขยายตัวเร่งขึ้น รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูกจากปริมาณน้ำฝนที่อยู่ในเกณฑ์ดี ล้วนเป็นปัจจัยหนุนอุปสงค์ของตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรไทยให้ขยายตัวได้ดี โดยคาดว่า ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทย (ผลิตเอง +นำเข้า) ในปี 2564 อยู่ที่ราว 83,269 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 22.5 (YoY)

มองต่อไปในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยในปี 2565 น่าจะให้ภาพการขยายตัวต่อไปได้จากปัจจัยหนุนด้านอุปสงค์เป็นสำคัญ แต่คงเป็นการขยายตัวแบบชะลอลง จาก Pent Up Demand ที่คลี่คลายมากขึ้น และแรงงานกลับถิ่นที่น่าจะน้อยกว่าปีก่อน โดยตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรคงเติบโตสอดคล้องไปกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังยืนอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ในฝั่งของอุปทานยังต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคากับเครื่องจักรกลการเกษตรของจีนที่มีราคาถูก รวมถึงต้นทุนการผลิตอย่างราคาน้ำมันและเหล็กที่อยู่ในระดับสูง อันจะทำให้ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยมีการเติบโตต่อไปได้อย่างระมัดระวัง

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยในปี 2565 อาจอยู่ที่ราว 84,600-87,900 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 1.6-5.6 (YoY) นับเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงหลังจากน่าจะผ่านจุดสูงสุดมาแล้วในปี 2564 ซึ่งจะยังเป็นการขยายตัวบนฐานที่สูง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 73,256 ล้านบาท (ปี 2559-2563) โดยปัจจัยหนุนที่ทำให้ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรยังขยายตัวต่อไปได้ คงมาจากปัจจัยด้านอุปสงค์เดิมที่มีต่อเนื่องจากปีก่อน แต่คงชะลอลง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

-Pent Up Demand ที่คลี่คลายมากขึ้น สะท้อนผ่านมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยที่น่าจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0-5.8 (YoY) และราคาสินค้าเกษตรในประเทศที่อาจขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.8-2.9 (YoY)

-แรงงานกลับถิ่นที่น่าจะมีจำนวนน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของแต่ละบุคคล โดยเกษตรกรบางส่วนอาจมีการลงทุนซื้อไปแล้วในปีก่อน และยังขึ้นอยู่กับการประเมินความคุ้มค่าที่จะลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ ล้วนส่งผลต่ออุปสงค์ให้อาจชะลอลง

-ผลผลิตทางการเกษตรในระดับสูงใกล้เคียงปีก่อน เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตและการสนับสนุนจากภาครัฐที่ต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของการช่วยเหลือเกษตรกรเฉพาะหน้าอย่างโครงการประกันรายได้เกษตรกร การสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรอย่างสินเชื่อเครื่องจักรกลการเกษตรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โครงการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รวมถึงแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย ระยะที่ 1 (ปี 2565-2570) ล้วนจูงใจให้เกษตรกรยังมีความต้องการผลิตสินค้าเกษตรต่อเนื่องจากปีก่อน

อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาสถานการณ์โควิด-19 จากเชื้อกลายพันธุ์ (Omicron) ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจกระทบต่ออุปสงค์และส่งผลต่อตัวเลขคาดการณ์มูลค่าตลาดให้ต่ำกว่ากรอบล่างที่ประเมินได้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2565 ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรน่าจะเติบโตต่อไปได้สอดคล้องกับอุปสงค์ในสินค้าเกษตรที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ผลไม้ (ทุเรียน) และอ้อย (เทรนด์โลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยต้องปรับตัวด้วยการหันมาใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานมากขึ้น เช่น เครื่องเก็บเกี่ยวอ้อย เพื่อลดการเผาอ้อยที่จะก่อให้เกิดภาวะฝุ่น/มลพิษทางอากาศ) ขณะที่สินค้าเกษตรที่แม้จะมีราคาไม่สูงนัก แต่อาจกระเตื้องขึ้นได้และมีความสำคัญต่อเกษตรกรจำนวนมากอย่างข้าว นับว่าจะยังเป็นสินค้าเกษตรที่ช่วยหนุนอุปสงค์เครื่องจักรกลการเกษตรของไทยโดยเฉพาะรถแทรกเตอร์และเครื่องเก็บเกี่ยวข้าว นอกจากนี้ จากเทรนด์โลกที่หันมารักสุขภาพมากขึ้น จะช่วยหนุนให้พืชเกษตรอย่างสมุนไพร กัญชง ข้าวออร์แกนิค ให้มีราคาอยู่ในระดับสูง ประกอบกับความต้องการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อลดข้อจำกัดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะช่วยหนุนให้เครื่องจักรกลการเกษตรอย่างโรงงานผลิตพืช การปลูกพืชในระบบปิด โดรนเพื่อการเกษตร เครื่องจักรที่นำระบบ Automation/AI/IoTs/Sensors เข้ามาใช้ จะมีบทบาทในภาคเกษตรมากขึ้นในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี แม้คาดว่าในฝั่งของอุปสงค์จะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ผลักดันตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยในปี 2565 ให้ไปต่อได้ แต่คงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงด้านอุปทานหรือผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตรที่อาจต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาเครื่องจักรกลการเกษตรจากจีนที่ถูกกว่าไทย ต้นทุนการผลิตอย่างราคาน้ำมันและเหล็กในตลาดโลกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ล้วนส่งผลกระทบต่ออุปทานและอาจส่งผลต่อภาพรวมตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยให้เติบโตไปได้อย่างระมัดระวัง

ดังนั้น แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการเครื่องจักรกลการเกษตร ทั้งในส่วนของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตรไทยในระยะข้างหน้าคือ การวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรที่ตรงตามความต้องการของตลาดและสอดคล้องไปกับการใช้งานที่เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่ปลูกของพืช ควบคู่ไปกับเทรนด์ที่มุ่งสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อันจะเป็นการยกระดับไปสู่การผลิตแบบเกษตรสมัยใหม่ เช่น การนำระบบ Automation/AI/IoTs/Sensors เข้ามาใช้ร่วมด้วยในพื้นที่เกษตรของไทยที่ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและถือครองด้วยเกษตรกรรายย่อย ดังนั้น จึงควรเป็นราคาเครื่องจักรกลการเกษตรที่เกษตรกรเข้าถึงได้ง่ายและสามารถทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาดได้ เช่น รถแทรกเตอร์อัตโนมัติ/ไร้คนขับ เพื่อใช้ในแปลงนาข้าวขนาดเล็ก-กลาง หรือหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้อัตโนมัติที่สามารถใช้งานได้ในพื้นที่ไม่ใหญ่นัก เป็นต้น นอกจากนี้ การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความรู้เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่จะมีความทันสมัยและซับซ้อนมากขึ้น ก็นับว่ามีความสำคัญเช่นกัน


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment