3 ปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจการเงินไทย ที่ต้องเร่งรับมือในปี 2565

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 นอกจากความเสี่ยงของสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่แล้ว ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยด้านจุดอ่อนเศรษฐกิจไทย ทิศทางการดำเนินนโยบายระดับโลก และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ที่ควรต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือ

ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวต่อเนื่องตามการส่งออกสินค้าและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลาย โดยมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการเปิดประเทศที่เป็นไปตามแผนและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทิศทางเพิ่มขึ้นแม้จะมีความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนก็ตาม โดย ttb analytics ประเมินว่า ปัจจัยบวกเหล่านี้จะส่งผลดีไปยังโมเมนตัมเศรษฐกิจปี 2565 ให้ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ยกเว้นกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญจนต้องเข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอีกประการคือ ความท้าทายด้านเศรษฐกิจการเงินในปี 2565 ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวให้ทัน เพื่อรักษาเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจระยะยาวให้ได้หลังยุคโควิด-19 โดยเมื่อจัดกลุ่มปัจจัยท้าทายด้านเศรษฐกิจการเงินตามเกณฑ์แหล่งที่มาของผลกระทบ แบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน คือ 1. จุดอ่อนของภาคส่วนเศรษฐกิจไทย 2. การปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายในระดับโลก และ 3. พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงทั่วโลก

ความท้าทายด้านแรก คือ เรื่องจุดอ่อนของภาคเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจาก

1.1) ความผันผวนของต้นทุนด้านอุปทานที่จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไทยมากขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนนำเข้าจากต่างประเทศ โดยความผันผวนด้านราคาสินค้าตลาดโลกในปัจจุบันมาจากภาคการผลิตที่หยุดดำเนินการในช่วงเกิดการแพร่ระบาด ได้ทยอยกลับมาเปิดดำเนินการ แต่ในหลายส่วนยังไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอกับความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ อีกทั้งสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง และส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าให้สะดุดหยุดลงได้ ประกอบกับอาจทำให้ความต้องการสินค้าบางประเภทเพิ่มขึ้นรวดเร็ว อาทิ ความต้องการพลังงานในช่วงฤดูหนาวที่ยาวนานกว่าปกติเช่นในปีนี้ แม้ประเมินว่าปัญหาด้านอุปทานจะทยอยคลี่คลายหลังกลางปี 2565 เป็นต้นไป แต่ภาคธุรกิจไทยที่เปราะบางจึงจำเป็นต้องพยายามลดต้นทุนที่เกิดขึ้น หาพลังงานทดแทน และลดความผันผวนจากต้นทุนนำเข้าต่างประเทศ (Imported Price) เพื่อคงความสามารถในการทำกำไรเอาไว้

1.2) ปัญหาโครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กระจุกตัวอยู่ในบางประเทศมีอัตราสูง โดยเฉพาะจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน ทำให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวเผชิญกับความอ่อนไหวเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น ดังนั้น ภาครัฐและภาคธุรกิจควรร่วมมือกันเร่งกระจายนักท่องเที่ยวเป้าหมายไปยังกลุ่มประเทศอื่น ๆ พร้อมกับเพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยวในประเภทที่สามารถทำมูลค่าเพิ่มได้ โดยเฉพาะกิจกรรมที่สอดคล้องกับกระแสนิยมของนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FITs) ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีอำนาจใช้จ่ายต่อคนสูงกว่าประเภทกรุ๊ปทัวร์ ก็จะสามารถช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยและเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคส่วนเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยได้เป็นอย่างดี

สำหรับความท้าทายด้านที่สอง จากการปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายในระดับโลก มีปัจจัยดังนี้

2.1) การเปิดกว้างทางการค้าระหว่างประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย ซึ่งแม้ว่าอุปสรรคการค้าในด้านภาษี (Tariff Barrier) ทั่วโลกจะลดลงต่อเนื่อง แต่มีแรงสั่นสะเทือนอีกครั้งหลังเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันอุปสรรคที่ไม่ใช่ด้านภาษี (Non-tariff Barrier) เช่น สิทธิบัตร ฯลฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงและไม่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเอเชียและแปซิฟิกที่ถือว่ามีอุปสรรค Non-tariff Barrier มากที่สุด อีกทั้งการดำเนินนโยบายพึ่งพาตนเองทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีนจะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อแนวโน้มการค้าการลงทุนของโลกด้วย ดังนั้น แนวทางการพิจารณาสร้างความสัมพันธ์ผ่านข้อตกลงร่วมทางการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นหนทางหนึ่งที่อาจช่วยลดทอนอุปสรรคทางการค้าลงได้

2.2) แนวนโยบายร่วมกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีผลให้ภาคธุรกิจและภาครัฐประเทศต่าง ๆ แสวงหาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนพลังงานสะอาด พร้อมออกนโยบายสนับสนุนวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายควบคุมอุณภูมิโลกร่วมกัน แนวทางการดำเนินนโยบายระดับโลกที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ หากธุรกิจและนโยบายประเทศใดปรับตัวสอดรับไม่ทัน อาจต้องเผชิญการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนได้ ดังนั้น การเร่งปรับตัวผ่านการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและพลังงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ความท้าทายด้านที่สาม จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทั้งการทำงานจากที่บ้าน (Work Form Home) การซื้อสินค้าและบริการ และการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น โดยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ได้ส่งผลให้คนไทยและผู้คนทั่วโลกทยอยปรับตัวทำกิจกรรมบางส่วนในชีวิตประจำวันบนโลกออนไลน์กัน ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เช่น การส่งเอกสาร และซื้อสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ฯลฯ แต่การเกิดวิกฤตโควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์การทำงานและประชุมผ่านระบบออนไลน์จากบ้านมากขึ้น อีกทั้งยังขยายฐานจำนวนผู้คนที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อสินค้าและบริการบนระบบออนไลน์ได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ การมาถึงของชุมชนโลกเสมือนจริง (Metaverse) จะยิ่งเร่งพฤติกรรมทางเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญและเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่นับจากนี้เป็นต้นไป

ดังนั้น ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นโอกาสดีที่เร่งให้ภาคธุรกิจต้องเสริมแพลตฟอร์มออนไลน์ และปรับปรุงระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ขององค์กรให้เชื่อมโยงกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและยังต้องสนับสนุนการทำงานของพนักงานจากบ้านได้อีกด้วย ซึ่งจะสามารถเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ลดต้นทุนการบริหารบุคลากรในองค์กรลงได้ และทำให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น สำหรับภาครัฐจะได้รับประโยชน์จากการมีทรัพยากรข้อมูลบนระบบออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการวางนโยบายบริหารประเทศได้ถูกต้องและตรงตามเป้าหมายมากขึ้นด้วย

ความท้าทายทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมาข้างต้นนี้ แม้ไม่สามารถทราบล่วงหน้าว่าจะส่งผลลัพธ์สุดท้ายต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในอนาคตอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจไทยควรร่วมมือกันปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยหาทางรับมือกับความผันผวนทางต้นทุนเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งปรับตัวต่อแนวนโยบายระดับโลกที่เปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสเพื่อรองรับพฤติกรรมเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์ที่มีมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยนับแต่นี้เป็นต้นไป


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment