ภูขาไฟปินาตูโบ เกาะลูซอน

7 มิถุนายน 2534 ภูเขาไฟปินาตูโบ (Mount Pinatubo) บนเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ เกิดการปะทุครั้งแรกหลังจากภูเขาไฟลูกนี้หลับใหลมาเป็นเวลายาวนานถึง 600 ปี การปะทุครั้งนั้นนับเป็นการปะทุครั้งรุนแรงเป็นอันดับสองของศตวรรษที่ 20 ภายหลังการปะทุของภูเขาไฟโนวารัปตา (Novarupta) ในอลาสกาเมื่อปี 2455

ภูเขาไฟปินาตูโบ มีลักษณะเป็นภูเขาไฟประเภทกรวยสลับชั้นที่มีพลังอยู่ มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,750 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพียง 87 กิโลเมตร ไม่ไกลจากภูเขาไฟเป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกาขนาดใหญ่สองแห่งคือ ฐานทัพเรือที่ซูบิกเบย์ (The U.S. Naval Base Subic Bay) อยู่ห่างจากภูเขาไฟเพียง 37 กิโลเมตร และฐานทัพอากาศคลาร์ก (Clark Air Base) อยู่ห่างจากภูเขาไฟเพียง 14 กิโลเมตรเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้ภูเขาไฟลูกนี้ประมาณ 6 ล้านคน

ผลกระทบจากการระเบิดในครั้งนั้น ทำให้กองทัพอเมริกันต้องอพยพประชาชนอเมริกันกว่า 20,000 คนโดยไม่มีใครกลับมาอีกเลย รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงเปลี่ยนซูบิกเบย์เป็นเมืองท่าปลอดภาษี ส่วนฐานทัพอากาศคลาร์กถูกเปลี่ยนเป็นเมืองศูนย์กลางด้านธุรกิจ การบิน และการท่องเที่ยว

Timeline การระเบิดของภูเขาไฟ

16 กรกฎาคม 2533 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงบนเกาะลูซอน วัดได้ 7.8 ริกเตอร์ ถือเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดที่วัดได้ในปี 2533 (มีขนาดใกล้เคียงกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ซานฟรานซิสโกเมื่อปี 2449 และที่มณฑลเสฉวนปี 2551) หลังจากนั้นก็มีเสียงสั่นสะเทือนและแผ่นดินไหวตามมาอีกหลายครั้ง ทำให้ภูเขาไฟปินาตูโบที่สงบมาเป็นเวลาหลายร้อยปีกลับมามีชีวิต

2 เมษายน 2534 การเตือนครั้งแรกของปินาตูโบเริ่มขึ้น เกิดการปะทุและระเบิดขึ้นบริเวณยอดเขา ขี้เถ้าภูเขาไฟลอยออกไปไกล 10 กิโลเมตร ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมาในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือการประกาศเตือนของภูเขาไฟ ปินาตูโบถึงเหตุการณ์อันเลวร้ายที่กำลังจะตามมา

7 มิถุนายน 2534 แรงดันมหาศาลภายใต้พื้นโลกทำให้ปินาตูโบปะทุครั้งแรก เศษหินและเถ้าถ่านจากการปะทุพวยพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสูงถึง 5.3 ไมล์ (ราว 8.5 กิโลเมตร) บ่งบอกให้รู้ว่าแม็กมาอยู่ใกล้กับพื้นผิวโลกมากและพร้อมจะระเบิดออกมาได้ทุกเมื่อ ทำให้รัฐบาลต้องประกาศระดับความรุนแรงเป็นระดับ 4 และประกาศให้เขตรัศมี 20 กิโลเมตรรอบภูเขาไฟเป็นเขตอันตราย

12 มิถุนายน 2534 เถ้าถ่านปริมาณมหาศาลพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าสูงถึง 12 ไมล์ (ราว 19 กิโลเมตร) ควันและเถ้าถ่านที่ลอยปกคลุมท้องฟ้าทำให้บรรยากาศตอนกลางวันมืดมิดราวกับกลางคืน แต่การระเบิดครั้งดังกล่าวถือเป็นแค่เพียงการเริ่มต้นเท่านั้น

กระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน 2534 เหตุการณ์หายนะทางธรรมชาติครั้งใหญ่สุดในศตวรรษที่ 20 ได้เกิดขึ้น พลังงานที่สะสมอยู่ภายในภูเขาไฟเทียบเท่ากับระเบิดปรมาณูที่ระเบิดที่ฮิโรชิมารวมกันกว่า 200,000 ลูก ก่อให้เกิดการระเบิดแบบพวยพุ่งที่มีความเร็ว 100 ไมล์ต่อชั่วโมง (160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) พร้อมกับแม็กมาปริมาณ 5 ลูกบาศก์กิโลเมตรได้ระเบิดขึ้นไปจนถึงชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ ทำให้พื้นที่โดยรอบในรัศมี 40 กิโลเมตรถูกปกคลุมด้วยเถ้าภูเขาไฟจนมืดสนิท สะเก็ดก้อนหินจากการระเบิดทำลายอาคารบ้านเรือน นอกจากนี้ แรงระเบิดยังทำให้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และก๊าซอื่นๆอีกกว่า 20 ล้านตัน ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ไปผสมกับความชื้น กลายเป็นเมฆปกคลุมรอบโลกนานถึง 21 วัน และส่งผลให้อุณหภูมิโลกลดลง 0.5 องศาเซลเซียสในอีก 3 ปีถัดมา (พ.ศ. 2534-2536)

และในวันเดียวกันนั้นเอง ยังได้เกิดเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่แสนจะบังเอิญ ซ้ำเติมชาวฟิลิปปินส์เข้าไปอีก นั่นคือ พายุใต้ฝุ่นยุนย่า (Typhoon Yunya) ที่มีความเร็วลม 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้พัดขึ้นเกาะลูซอน ส่งผลให้หินดินโคลนรวมถึงเถ้าถ่านภูเขาไฟหลายพันตันรวมตัวกับน้ำฝนที่ตกลงมาจนกลายเป็นพายุโคลนขี้เถ้าภูเขาไฟ และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางการไหลของกระแสน้ำที่ไหลผ่านปินาตูโบ พัดทำลายและกวาดเอาทุกอย่างที่ผ่านให้ไหลลงสู่ที่ราบลุ่ม ก่อให้เกิดการไหลของโคลนหินตะกอนภูเขาไฟเป็นทางยาว คนฟิลิปปินส์เรียกร่องรอยการไหลของโคลนหินตะกอนภูเขาไฟนี้ว่า ลาฮา (lahar) ปัจจุบันที่ซูบิกเบย์ยังคงมีร่องรอยของลาฮานี้ปรากฏให้เห็น

หลังจากผ่านไปสองวัน บริเวณนั้นเต็มไปด้วยฝุ่นละอองสีขาวเทา พื้นดินกลายเป็นพื้นโคลนไม่มีความสวยงามของธรรมชาติหลงเหลืออยู่ แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าก่อนหน้านี้เคยมีผู้คนอาศัยอยู่

การระเบิดของภูเขาไฟปินาตูโบในปี 2534 ถูกประกาศระดับความรุนแรง VEI 6 (VEI - Volcanic Explosivity Index ดัชนีการระเบิดของภูเขาไฟ ที่มีระดับความรุนแรงตั้งแต่ 0-8 ยิ่งตัวเลขสูงแสดงว่าการระเบิดยิ่งรุนแรง) นับได้ว่าเป็นการระเบิดครั้งใหญ่เกือบเทียบเท่ากับการระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัว ที่อินโดนีเซียเมื่อปี 2426

การระเบิดของภูเขาไฟปินาตูโบครั้งนั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 800 คน ไร้ที่อยู่อาศัยอีกราว 200,000 คน หลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ พื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรเสียหายเกือบ 1,000 ตารางกิโลเมตร สัตว์เลี้ยงของเกษตรกรตายไป 800,000 ตัว

โชคดีที่พวกเขาได้รับการแจ้งเตือนจากนักวิทยาศาสตร์ฟิลิปปินส์ที่คอยเฝ้าดูภูเขาไฟปินาตูโบ ทำให้สามารถอพยพออกจากบริเวณนั้นได้อย่างทันท่วงที มิฉะนั้นอาจเกิดความสูญเสียไปมากกว่านี้

ปินาตูโบในวันนี้

จากหายนะทางธรรมชาติอันเลวร้ายที่ทำลายล้างทุกสรรพสิ่งที่ขวางหน้าให้พังพินาศ แต่มาวันนี้ ความน่ากลัวเหล่านั้นกลับกลายเป็นความสวยงามที่ธรรมชาติสรรค์สร้างขึ้นมาทดแทนให้

ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ที่โอบล้อมภูเขาลูกนี้กับทะเลสาบสีเขียวมรกตกลางปล่องภูเขาไฟ กลายเป็นไฮไลท์ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้มาชื่นชมความงดงามของภูเขาไฟปินาตูโบ

นอกจากนี้ บนเกาะลูซอนยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 3 แห่ง อาทิ นครประวัติศาสตร์วีกัน อดีตเมืองการค้าของยุโรปในเอเชียที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมยุโรปได้อย่างกลมกลืน ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี 2542

โบสถ์ซานตามาเรีย หรือโบสถ์พระแม่แห่งอัสสัมชัญ (The Church of Our Lady of the Assumption) เป็นหนึ่งในสี่โบสถ์ยุคสเปนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก ในชื่อ โบสถ์บาโรคแห่งฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2536

และนาขั้นบันไดแห่งเทือกเขาฟิลิปปินส์ สุดยอดนาขั้นบันไดของโลก สร้างขึ้นโดยชาวอิฟูเกา (Ifugao) เมื่อกว่า 2,000 ปีก่อนยุคอาณานิคมฟิลิปปินส์ โดยแกะสลักภูเขาทั้งลูกเพื่อปลูกข้าว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี 2538

เกาะลูซอน เป็นเกาะที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองมากที่สุดของฟิลิปปินส์ และยังเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะทั้งสามกลุ่มของประเทศ หากใครมีโอกาสเดินทางไปฟิลิปปินส์ อย่าลืมไปเที่ยวที่เกาะลูซอนและแวะไปชมธรรมชาติที่ภูเขาไฟปินาตูโบกันด้วย

ขอขอบคุณข้อมูล

http://www.nextsteptv.com/mount-pinatubo-ภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ/

https://www.volcanodiscovery.com/pinatubo/chronology-1991-eruption.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Mount_Pinatubo

https://www.ngdc.noaa.gov/hazard/stratoguide/pinfeat.html


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment