{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
Rebecca A. Johnson ผู้อำนวยการศูนย์การวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ มหาวิทยาลัยมิสซูรี ได้กล่าวไว้ว่า แค่เรามองสัตว์เลี้ยงตัวโปรดของเรา สมองก็จะหลั่งสารออกซิโทซิน ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น และช่วยผ่อนคลายความเครียดและเหนื่อยล้าจากการทำงานได้ กระทั่งทำให้ผู้เลี้ยงเกิดความผูกพัน รวมทั้งดูแลเอาใจใส่และเลี้ยงดูเป็นอย่างดี จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่าคนนิยมที่จะมีสัตว์เลี้ยงไว้ในบ้านเพิ่มขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก ยิ่งส่งผลให้ปรากฎการณ์ Pet Humanization เด่นชัดขึ้น จากการที่ต้องใช้ชีวิตและกักตัวอยู่ที่บ้านนานๆ จึงต้องหากิจกรรมคลายเครียดต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง โดยจากข้อมูลของ The American Pet Products Association (APPA) ระบุว่า ในปี 2021 สัดส่วนครอบครัวชาวอเมริกันที่มีสัตว์เลี้ยง (Pet Ownership) จะเพิ่มขึ้นเป็น 70% จากเฉลี่ยที่ 67% ในช่วงปี 2018-2020 โดยเฉพาะสุนัข และแมวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าประเภทอื่น
Pet Humanization คืออะไร?
Pet Humanization โดยทั่วไปจะหมายถึงพฤติกรรมการเลี้ยงของเจ้าของที่เลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงของตนเสมือนลูก หรือเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว ซึ่งจะแตกต่างจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีทัศนคติต่อสัตว์เลี้ยงของตนว่าเป็นเพียงสัตว์เลี้ยง นั่นคือ จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เพื่อไว้ใช้งานหรือต้องการประโยชน์บางอย่างจากสัตว์เลี้ยง เช่น เลี้ยงไว้เพื่อเฝ้าบ้าน และมีรูปแบบการเลี้ยงเป็นไปแบบง่ายๆ ทั้งนี้ กลุ่มเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีทัศนคติต่อสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว หรือ Pet Humanization นี้จะมีรูปแบบการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีและให้ความสำคัญต่อสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยและต่อเนื่อง จึงนับเป็นปรากฏการณ์ก็ว่าได้ สะท้อนจากผลการสำรวจของ Morgan Stanley Research ชี้ว่า เกือบ 70% ของผู้เลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงของตนเองเสมือนสมาชิกในครอบครัว และอีก 66% ของผู้เลี้ยงมีความรักความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงของตนมาก รวมทั้ง 47% ของผู้เลี้ยงยังเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของตนเสมือนลูกอีกด้วย นอกจากนี้ 37% ของผู้เลี้ยงก็จะยอมหามาให้ได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าน้องหมา น้องแมว อยากได้อะไร ผู้เลี้ยงเหล่านี้ก็จะหามาให้นั่นเอง ทั้งนี้ Morgan Stanley ได้นิยามพฤติกรรมการเลี้ยงดังกล่าวไว้ว่าเป็น “Petriarchy” หรือที่เรียกกันว่า “ทาสหมา ทาสแมว” นั่นเอง (รูปที่ 1)
พฤติกรรม Pet Humanization ส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง?
มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น จากความรักความผูกพันของผู้เลี้ยงที่มีต่อสัตว์เลี้ยง ทำให้ผู้เลี้ยงมีความเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงของตนมีความสุข (Gardyn, R, 2001) สอดคล้องกับข้อมูลของสมาคม The American Pet Products Association (APPA) ระบุว่าการใช้จ่ายของครัวเรือนต่อสัตว์เลี้ยงหนึ่งตัวจะเพิ่มขึ้นจาก 980 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020 เป็น 1,292 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2025 เช่นเดียวกับรายงานของ The Household and Pet Care CPG ที่ชี้ว่า ในปี 2018-2023 ยอดขายในกลุ่มอาหาร ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับสัตว์เลี้ยง จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 15% ต่อปี
หนึ่งในค่าใช้จ่ายสัตว์เลี้ยงที่สำคัญ คือ ค่าอาหาร ซึ่งมีแนวโน้มว่าผู้เลี้ยงมองหาอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงในระดับ Premium มากขึ้น สะท้อนจากข้อมูลของ ADM Outside Voice ชี้ว่า 30% ของเจ้าของสัตว์เลี้ยงทั่วโลกใช้เวลานานขึ้นในการค้นหาตัวเลือกอาหารที่ดีที่สุด ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงให้ความสำคัญกับคุณค่าด้านโภชนาการอาหาร รวมทั้งคุณภาพและมาตรฐานของอาหารที่ดีสำหรับสัตว์เลี้ยง อีกทั้งมองหาอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณประโยชน์คล้ายคลึงกับอาหารของมนุษย์ สะท้อนจากข้อมูลของ ADM Outside Voice ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีความเต็มใจจ่ายแพงขึ้น เพื่อให้ได้อาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่ดี ส่งผลให้อาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ ผลการสำรวจของ Mondi เกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยม พบว่าผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าเป็นอันดับแรก เนื่องจากผู้บริโภคมองว่าการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานการผลิตที่ดี จะส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายของสัตว์เลี้ยง
ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยมของโลกยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยจากข้อมูล Mordor Intelligence Analysis คาดว่า ในปี 2021 มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยมของโลก จะอยู่ที่ 83,022 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 105,096 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2026 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8% ต่อปี ทั้งนี้ แม้ว่าอาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยมจะมีราคาที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับอาหารสัตว์เลี้ยงแบบทั่วไป แต่ก็มีการผลิตที่ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและคุณค่าด้านโภชนาการตอบโจทย์ผู้เลี้ยงที่ต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยง ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มคุณค่าทางอาหารในด้านต่างๆ เช่น ช่วยระบบย่อยอาหารหรือระบบขับถ่าย ช่วยบำรุงผิวหนังและขน ช่วยบำรุงสุขภาพปากและฟัน และช่วยบำรุงกระดูกและข้อต่อ รวมทั้งอาหารสัตว์เลี้ยงแบบธรรมชาติ ปลอดสารเคมี และอาหารอินทรีย์ เป็นต้น
2. เกิดบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ Pet Humanization เนื่องจากการบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงแสนรักเข้าใกล้บริการของมนุษย์เข้าไปทุกที โดยปัจจุบันเราเริ่มเห็นบริการใหม่ๆ หรือการต่อยอดธุรกิจสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ตอบโจทย์ความต้องการใน Segment ที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริการด้านสุขภาพที่มีการนำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีเฉพาะทางมาให้บริการสัตว์เลี้ยง เช่น ศูนย์กายภาพบำบัดสัตว์โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน ที่ควบคุมและดูแลโดยสัตวแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งใช้อุปกรณ์ลู่วิ่งสายพานใต้น้ำ เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อและเอ็น ทำให้สัตว์เลี้ยงกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง นอกจากนี้ อีกหนึ่งบริการที่น่าสนใจ คือ นักสืบสัตว์เลี้ยง เป็นบริการใหม่ที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน โดยหากเกิดเหตุการณ์สัตว์เลี้ยงแสนรักของผู้เลี้ยงพลัดหลงหรือสูญหายคงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ๆ ซึ่งนักสืบสัตว์เลี้ยงจะทำการค้นหาสัตว์เลี้ยงจากขน หรือปัสสาวะ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น อุปกรณ์ตรวจจับอุณหภูมิ หรือจมูกไฟฟ้าเพื่อใช้ในการติดตามค้นหาสัตว์เลี้ยง
นอกจากนี้ ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้บริการสำหรับสัตว์เลี้ยงถูกพัฒนาและนำเสนอในรูปของแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เช่น “Dutch” แพลตฟอร์มให้บริการ Pet Telemedicine “DoorDash” แพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ ที่จับมือกับ “PetSmart” เชนค้าปลีกด้านสัตว์เลี้ยงที่มีสาขามากกว่า 1,500 สาขาทั่วสหรัฐฯ พัฒนาบริการจัดส่งสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงแบบ On-Demand ทั้งอุปกรณ์ดูแลสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์ ของเล่น เป็นต้น
การใช้สัตว์เลี้ยงมาทำแคมเปญเพื่อโฆษณาหรือเป็นจุดขายในสินค้ามากขึ้น ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าสินค้าต่างๆ แม้ไม่ใช่สินค้าที่เกี่ยวกับ หรือใช้กับสัตว์เลี้ยงโดยตรง ก็มักจะใช้สัตว์เลี้ยงมาเป็นจุดขายหรือ Tie-in ร่วมกับสินค้ามากขึ้น เช่น การโฆษณาของกระดาษทิชชู่ บริษัทประกัน หรือแม้กระทั่งคอนโดมีเนียม ที่ชูการอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้เป็นจุดขาย เป็นต้น ทั้งนี้สอดคล้องกับข้อมูลของ Mandala Analytics (www.mandalasystem.com) ที่พบว่าคนไทยค้นหา และให้ความสนใจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขและแมวอยู่ตลอด โดยจากแนวโน้มปริมาณการค้นหาใน Google ทำให้เห็นว่ามีเพจจำนวนมากเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่ผลิตคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ นอกจากนี้ การทำโฆษณาร่วมกับสัตว์เลี้ยงทำให้แบรนด์สามารถเชื่อมต่อกับคน และน่าจดจำมากขึ้น เพราะคนสามารถจินตนาการความเชื่อมต่อระหว่างสินค้ากับสัตว์ที่รู้จักได้ง่าย
พฤติกรรม Pet Humanization อยู่ในกลุ่มผู้บริโภควัยไหนมากที่สุด
ผู้บริโภคในกลุ่ม Millennials หรือกลุ่มอายุ 18-34 ปี เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นของตนเอง และมีแนวโน้มในอนาคตจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีพฤติกรรมเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนลูกในสัดส่วนที่มากที่สุด โดยจากผลการสำรวจของ Morgan Stanley Research ชี้ว่าผู้บริโภคอายุ 18–34 ปี ถึง 75% จะมีสัตว์เลี้ยงเป็นของตนเอง รวมทั้ง 65% มีความต้องการหรือวางแผนเลี้ยงสัตว์เพิ่มภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ (รูปที่ 4 ซ้ายมือ) นอกจากนี้ ผู้บริโภคอายุ 18–34 ปี ยังเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีพฤติกรรมเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนลูก และให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงมาเป็นอันดับแรกอีกด้วย (รูปที่ 4 ขวามือ)
ธุรกิจไหนที่ได้รับประโยชน์บ้าง?
Krungthai COMPASS มองว่า ปรากฏการณ์ Pet Humanization จะส่งผลดีกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน ของธุรกิจสัตว์เลี้ยงซึ่งมีจำนวนมาก ทั้งตลาดส่งออกและตลาดในประเทศไทย นอกจากนี้ บางธุรกิจอาจยังไม่มีในไทย ซึ่งก็อาจเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการอาจมอง Success Case ในต่างประเทศมาประยุกต์และต่อยอดธุรกิจในไทยได้ อาทิ
ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มอาหารเสริม สำหรับแนวโน้มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ยังมีโอกาสเติบโตและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก โดยจากข้อมูลของ Euromonitor คาดว่า ในปี 2021 มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของโลก จะอยู่ที่ 110,268 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 156,960 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2026 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3% ต่อปี เช่นเดียวกับมูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย ในปี 2021 คาดว่าจะอยู่ที่ 40,638 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 60,495 ล้านบาท ในปี 2026 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8.3% ต่อปี ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยขยายโอกาสทั้งในประเทศและตลาดโลก ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 3 ของโลก รองจากเยอรมันและสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021 อยู่ที่ 1,468 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวสูงถึง 22.4%YoY ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของโลกซึ่งอยู่ที่ 13.7% อีกด้วย โดยเฉพาะตลาดหลักของไทยอย่างสหรัฐฯ และอาเซียน ที่ขยายตัวถึง 27.5%YoY และ 29.6%YoY ตามลำดับ (รูปที่ 5) เนื่องจากสินค้าของไทยมีคุณภาพได้มาตรฐาน อีกทั้งผู้ประกอบการมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม
นอกจากนี้ ธุรกิจกลุ่มอาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงก็ได้รับนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จากรายงานการวิจัยตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของบริษัท Packaged Facts ในสหรัฐฯ ชี้ว่า ในปี 2020 ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ มียอดขายเพิ่มขึ้น 21%YoY หรือมีมูลค่าเกือบถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งมาจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่สัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีความเฉพาะสำหรับกลุ่มสัตว์เลี้ยงสูงวัยที่เสริมสุขภาพของไขข้อและกระดูก นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ และออร์แกนิก ซึ่งผู้เลี้ยงให้ความสนใจและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยผลการสำรวจพบว่า 77% ของผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ และ 68% จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงประเภทออร์แกนิก
ธุรกิจให้บริการดูแลสัตว์เลี้ยง ได้แก่ การให้บริการโรงแรมหรือที่พักสำหรับสัตว์เลี้ยง การฝึกสัตว์เลี้ยง และการบริการตัดแต่งสำหรับสัตว์เลี้ยง ยกตัวอย่างบริษัท Groomit ในสหรัฐฯ ได้เปิดให้ผู้สนใจจองผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อรับบริการตัดแต่งขนสัตว์เลี้ยงถึงบ้าน ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง รวมทั้งสัตว์เลี้ยงได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ การให้บริการเดินทางรับส่งสัตว์เลี้ยง ก็มีให้เห็นกันบ้างแล้วสำหรับในไทย โดย บริษัท แกร๊บแท็กซี่ (ประเทศไทย) ได้เปิดให้บริการ GrabPet เรียกรถสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางพร้อมสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นทางเลือกให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่อาจไม่มีรถยนต์ส่วนตัว หรือไม่ต้องการขับรถเอง
ธุรกิจอุปกรณ์ และเฟอร์นิเจอร์สำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น ปลอกคอ ภาชนะอาหาร บ้านสัตว์ กรง แผ่นรองฉี่สัตว์เลี้ยงและทรายแมว เป็นต้น โดยอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ System Toilet สำหรับแมว หรือเป็นการนำทรายแมวชนิดพิเศษและแผ่นรองฉี่มาใช้ร่วมกัน ทำให้สามารถลดจำนวนครั้งในการเปลี่ยนทรายและแผ่นรองได้น้อยลง และยังช่วยลดกลิ่นได้อีกด้วย รวมทั้งผ้านวมสำหรับนอนของสัตว์เลี้ยงที่ช่วยดับกลิ่นและช่วยลดการเกาะติดของขนสัตว์ เป็นต้น
ธุรกิจคาเฟ่สัตว์เลี้ยง ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์และกลุ่มคนรักสัตว์ได้เป็นอย่างดี ที่สามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปนั่งเล่นและรับประทานอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงอีกด้วย รวมทั้งผู้เลี้ยงก็สามารถรับประทานอาหารไปพร้อมกับสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มคนรักสัตว์แต่อาจจะไม่สามารถเลี้ยงสัตว์เองได้ก็สามารถมานั่งเล่น หรือใช้เวลากับสัตว์เลี้ยงที่ทางคาเฟ่จัดหามาให้ได้อย่างน่าประทับใจ ยกตัวอย่างเช่น KitTea ร้านคาเฟ่แมวในรัฐซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ หรือในบ้านเราก็มีคาเฟ่สัตว์เลี้ยงอยู่พอสมควร เช่น BLABLA-b๋oo Premium Dog Café, Dog In Town - Dog Cafe คาเฟ่หมาเอกมัย, Caturday cat café เป็นต้น
ธุรกิจประกันสัตว์เลี้ยง โดยธุรกิจประกันภัยได้เข้ามามีบทบาทในการรับประกันอุบัติเหตุและเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยง เพื่อสร้างความอุ่นใจและสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้เลี้ยง จากรายงานของ North American Pet Health Insurance Association 2021 (NAPHIA) ชี้ว่าสัตว์เลี้ยงเกือบ 3.4 ล้านตัว ในสหรัฐฯและแคนาดาได้รับประกันอุบัติเหตุและเจ็บป่วยตั้งแต่ปี 2016 และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 18.9% และ 12.6% ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงในสหรัฐฯ มีการใช้จ่ายสำหรับประกันอุบัติเหตุและเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขและแมวเฉลี่ยอยู่ที่ 49.92 และ 28.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน สำหรับประกันภัยสำหรับสัตว์เลี้ยงในไทย เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น เช่น TIP PET LOVER ของทิพยประกันภัย และเมืองไทย Cats & Dogs Plus ของเมืองไทยประกันภัย เป็นต้น
ธุรกิจจัดนิทรรศการและการแสดงสินค้าเพื่อคนรักสัตว์ การจัดงานอีเว้นท์เกี่ยวกับสัตว์กลายเป็นเทรนด์หนึ่งที่มีให้เห็นต่อเนื่องและคนก็ให้ความสนใจมากขึ้น ซึ่งคาดว่าภายหลังที่การระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลาย การจัดงานลักษณะนี้จะกลับมาคึกคักขึ้นอีก โดยในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 มีการงานอีเว้นท์ใหญ่ๆ เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเกิดขึ้นเกือบทุกเดือนตลอดปี และกระจายไปในหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคด้วย ซึ่งผู้ที่เข้าชมงานก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากข้อมูลของบริษัท อิมแพ็คเอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ พบว่า จำนวนผู้เข้าชมงานอีเว้นท์เกี่ยวกับสัตว์เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 200,000 คนในแต่ละครั้ง
Implication:
Krungthai COMPASS แนะนำให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างจุดขายและตอบโจทย์ความต้องการของผู้เลี้ยงและสัตว์เลี้ยงที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อโอกาสในการส่งออกและตลาดในประเทศที่ยังเปิดกว้าง เช่น การพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากโปรตีนจากพืชและแมลงที่ได้รับความนิยมมากขึ้น สะท้อนจากผลการสำรวจของ The American Pet Products Association (APPA) ระบุว่า 51% ของผู้เลี้ยง มีความต้องการอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน สอดคล้องกับผลการสำรวจของบริษัท Petco พบว่า 55% ของผู้เลี้ยงมองหาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความยั่งยืนให้กับสัตว์เลี้ยงของตนด้วย
นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มกิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ ผู้ประกอบการยังมีโอกาสเข้าถึงการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลระยะเวลา 3 ปี และยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรและการวิจัย รวมถึงอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก และจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment: BOI) พบว่า ในปี 2020 มีบริษัทในกิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ ได้รับการอนุมัติจาก BOI คิดเป็นเงินลงทุนรวมกว่า 2,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 24%
ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ โดยเฉพาะ E-Commerce จากผลการสำรวจของ Morgan Stanley Research พบว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 ผู้บริโภคมีจับจ่ายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงในรูปแบบออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 30% ของยอดขายสินค้าในกลุ่มสินค้าสัตว์เลี้ยงของร้านค้าปลีก เมื่อเทียบกับในปี 2019 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่มีสัดส่วนเพียง 23% นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2020 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง ผู้บริโภคมีจับจ่ายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงในรูปแบบออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 36% และคาดว่าพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงผ่านทางออนไลน์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ส่วนหนึ่งเพราะกลุ่มลูกค้าที่มี Potential กลุ่มใหญ่สุด คือ ผู้บริโภคในกลุ่ม Millennials หรือผู้มีอายุ 18-34 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่นิยมการชอปปิงออนไลน์
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS