{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
วิจัยกรุงศรีปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 เติบโตเหลือ 0.6% จากเดิมคาด 1.2% จากอุปสงค์ในประเทศและภาคท่องเที่ยวที่อ่อนแอลง
แบบจำลองของวิจัยกรุงศรีบ่งบอกว่า จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 อาจสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยอัตราการเสียชีวิตจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดมาตรการล็อกดาวน์
จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 อาจสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้อันมีสาเหตุมาจากสายพันธุ์เดลต้าที่เป็นสายพันธุ์หลักในช่วงที่ผ่านมา แบบจำลองกรณีฐานของกรุงศรีระบุว่ามีแนวโน้มที่อัตราการเสียชีวิตรายวันจะสูงสุดในกลางเดือนกันยายน โดยอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงจะเป็นปัจจัยในการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐในปลายเดือนกันยายน ถึงแม้ว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาด (non-pharmaceutical interventions (NPIs)) จะยังคงอยู่ตลอดปีนี้ก็ตาม ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ในภายใต้ข้อสมมติว่าจะมีการฉีดวัคซีนตกวันละ 250,000 โดส และประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 50% การระดมฉีดวัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีน และประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญต่อการควบคุมการระบาดในประเทศว่าจะยาวนานเพียงใด ในกรณีเลวร้ายที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอาจมีจำนวนสูงตลอดทั้งปีนี้เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์และวัคซีนที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลให้ยังคงมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดจนถึงเดือนพฤศจิกายน
ผลกระทบจากการระบาดที่รุนแรงกว่าคาดและผลต่อภาคการผลิต บั่นทอน GDP ปีนี้ลงจากประมาณการครั้งก่อน ล่าสุดวันที่ 27 สิงหาคม ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แม้เห็นชอบให้คงมาตรการเคอร์ฟิวในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ต่อไปอีก 14 วัน แต่ได้ผ่อนปรนให้เปิดกิจการ/กิจกรรมภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น การเปิดบริการของร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า (ยกเว้นบางแผนก อาทิ โรงภาพยนต์ สวนน้ำ สวนสนุก) ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอล์ สนามกีฬา เป็นต้น ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564
แม้บางกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่สีแดงเข้มจะเริ่มกลับมาดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน แต่การระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่เลวร้ายกว่าคาดจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้มีการล็อกดาวน์เข้มงวดนานขึ้นและขยายวงกว้างพื้นที่สีแดงเข้ม นอกจากนี้ การระบาดที่ลุกลามไปยังกลุ่มโรงงาน ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางภาคอุตสาหกรรม ปัจจัยเหล่านี้คาดว่าจะกระทบต่อ GDP รวม -2.9% ซึ่งในการประมาณการครั้งก่อนเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ได้ประเมินผลดังกล่าวไว้แล้ว -2.0% ดังนั้น ผลกระทบเชิงลบที่เพิ่มเติมจากการระบาดของ COVID-19 ต่อ GDP ปี 2564 ในประมาณการครั้งล่าสุดคือ -0.9% สำหรับผลเชิงบวก คาดว่าจะมีเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการเพิ่มเติมในปีนี้อีกราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยหนุน GDP ได้ +0.3% ผลกระทบสุทธิต่อการเติบโตของ GDP ในปีนี้โดยรวมแล้วจึงคาดว่าจะะลดลงจากคาดการณ์เดิม -0.6% วิจัยกรุงศรีจึงปรับลดประมาณการ GDP ไทยปีนี้เติบโตเหลือ 0.6% จากเดิมคาด 1.2%
ส่งออกเดือนกรกฎาคมเติบโตดีกว่าคาด แต่ผลกระทบจากการระบาดในภาคการผลิตมีความเสี่ยงสูงขึ้น มูลค่าส่งออกในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 22.7 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 20.3% YoY แม้ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี แต่สูงกว่าที่วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ไว้ที่ 18.7% หากหักสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ มูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัว 25.4% ด้านการส่งออกสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ยังเติบโตกระจายตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผลิตภัณฑ์เคมี (+54.0%) ผลิตภัณฑ์เกษตร (+46.4%) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (+43.4%) และยานพาหนะและอุปกรณ์ (+36.1%) หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า (+21.9%) และหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+20.9%) อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการหดตัวต่อเนื่อง อาทิ ข้าว จากการแข่งขันทางด้านราคา อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ในประเทศ ด้านตลาดส่งออกพบว่าขยายตัวต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด
ในระยะข้างหน้า การส่งออกของสินค้าไทยยังคงได้แรงสนับสนุนจากหลายปัจจัย ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทยอยเพิ่มขึ้น การกลับมาดำเนินการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว การผ่อนคลายลงของภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการอ่อนค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากปัจจัยภายในประเทศมีเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงและแพร่เข้าสู่ภาคการผลิต ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการปิดชั่วคราวในบางโรงงาน ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกบางสาขา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงาน ดังนั้น แม้แรงส่งจากปัจจัยภายนอกแข็งแกร่งและสัญญาณเชิงบวกจากตัวเลขส่งออกล่าสุดที่ยังเติบโตมากกว่าคาด แต่ปัจจัยลบภายในประเทศอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี วิจัยกรุงศรีจึงยังคงประมาณการการเติบโตของการส่งออกของปีนี้ไว้ที่ 13.5% เทียบกับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ที่เติบโต 16.2% (บนฐานข้อมูลกระทรวงพาณิชย์)
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS