{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
กอช.ลงนามกับ ส.ส.ท.เพื่อร่วมสื่อสารประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมให้ประชาชนคนไทย แรงงานนอกระบบ ได้เข้าถึงการออมเพิ่ม มากขึ้น ผ่านสื่อต่างๆ ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า กอช.ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการออม ระหว่าง กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ในครั้งนี้ มีเป้าหมายร่วมกันในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักด้านการวางแผนทางการเงิน การออมเงิน เพื่อวัยเกษียณกับ กอช. แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อโทรทัศน์ และ/หรือสื่อสารต่างๆ ทุกแขนงของ กอช. และ ส.ส.ท. รวมถึงดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน
ในปัจจุบัน กอช. มีการสื่อสารกับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และสมาชิก กอช. หลากหลายช่องทาง ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ (เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และไลน์) เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เป็น นักเรียน นักศึกษา วัยทำงานที่ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ อายุตั้งแต่ 15 ปี ถึง อายุ 60 ปี ได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการออมกับ กอช. เพิ่มมากขึ้น จึงได้ร่วมมือกับ ส.ส.ท. หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ สร้างความตระหนักให้ประชาชนไทยเตรียมความพร้อมก่อนวัยเกษียณ ได้รู้จักการวางแผนชีวิตตั้งแต่ขณะเรียน ยิ่งออมเร็ว ชีวิตยิ่งมั่นคง โดยออมเงินกับ กอช. เริ่มต้นเพียง 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี พร้อมได้เงินสมทบเพิ่มตามช่วงอายุของสมาชิก
อายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมสะสมสูงสุด 600 บาทต่อปี
อายุ >30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมสะสมสูงสุด 960 บาทต่อปี
อายุ >50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมสะสมสูงสุด 1,200 บาทต่อปี
ทั้งนี้ สมาชิก กอช. จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการออมเงินกับ กอช. สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวนเงินออม และคุ้มครองค้ำประกันเงินที่นำไปลงทุนให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุน เมื่อสมาชิกออมครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ในอัตราไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ย 7 ธนาคาร สมาชิกสามารถดูยอดเงินออมสะสม เงินสมทบ ได้ผ่านแอปพลิเคชัน “กอช.” ได้ตลอดเวลา
รองศาสตราจารย์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า ส.ส.ท. มีความยินดีอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเผยแพร่สาระความรู้ เพื่อสร้างวินัยการออม และการวางแผนบริหารการเงินเพื่อครอบครัว การวางแผนออมเพื่ออนาคตเป็นที่พึ่งวัยเกษียณ ซึ่งที่ผ่านมาไทยพีบีเอส ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการออมมาโดยตลอด โดยนำเสนอสาระความรู้ ความบันเทิง รูปแบบต่าง ๆ ผ่านช่องทางของไทยพีบีเอส เช่น ซิตคอมมันนี่ที่รัก ที่สะท้อนปัญหาปากท้อง หยิบยกประเด็นในปัจจุบันมานำเสนอเพื่อความอยู่รอดในสังคมยุควิถีใหม่ รายการสูงวัยวาไรตี้ ที่ออกอากาศทาง ALTV ทีวีเรียนสนุก ช่องหมาย เลข 4 เป็นรายการที่เปิดพื้นที่การแชร์เรื่องราวที่เป็นประโยชน์ แลกเปลี่ยนและเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวสู่ช่วงชีวิตของผู้สูงอายุอย่างเรื่องสุขภาพ, ไลฟ์สไตล์, เทคโนโลยี และเรื่องการเงิน เพื่อช่วยออกแบบชีวิตก้าวสู่ Smart Life ซึ่งในความร่วมมือกับ กอช.ครั้งนี้ถือเป็นการเน้นย้ำ เรื่องการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ในทุกมิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันภาครัฐได้มีนโยบายใน การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยระบบการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุในรูปแบบการออมภาคบังคับ และภาคสมัครใจ
สำหรับการออมภาคบังคับ เป็นการออมที่ภาครัฐจัดให้กับผู้ที่เป็นแรงงานในระบบ จะมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ประกันสังคม มาตรา 33 มาตรา 39 ส่วนการออมภาคสมัครใจสำหรับบุคคลทั่วไป รวมถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างประจำส่วนราชการ คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการออมภาคสมัครใจที่รัฐจัดให้กลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ คือ ประกันสังคมมาตรา 40 (ทางเลือก 1 ทางเลือก 2 และทางเลือก 3) และ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ไทยพีบีเอส ขอย้ำว่าเรื่องการออมไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากมีการปลูกฝังสร้างความเข้าใจตั้งแต่กลุ่มเด็ก เยาวชน อาจจะช่วยนำพาให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักของความยากจนหรือลดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นในอนาคต ซึ่งไทยพีบีเอสจะช่วยเร่งส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ วางแผนทางการเงิน ให้ประชาชนคนไทยได้เข้าใจ เข้าถึงการออมเงินเพิ่มมากขึ้น ผ่านสื่อทุกแขนงของไทยพีเอส ทั้งสื่อโทรทัศน์ Podcast สื่อออนไลน์ และ อื่น ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนด้านการออมเงินมากที่สุด
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS