{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
“เต่า” เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานในยุคไทร แอสสิก (Triassic period) หรือราวสองร้อยล้านปีก่อน
ปัจจุบัน เต่ากลับเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มลดปริมาณลงเรื่อยๆ ทุกปี เต่าบางสายพันธุ์ก็ใกล้สูญพันธุ์เต็มที หรือสูญพันธุ์ไปแล้วบ้างก็มี คู่สามีภรรยา นางซูซาน เทลเล็ม (Susan Tellem) และ นายมาร์แชล ธอมสัน (Marshall Thompson) ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงจัดตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรขึ้น ชื่อว่า American Tortoise Rescue ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2533 เพื่อจัดกิจกรรมปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์เต่า พร้อมทั้งช่วยเหลือรักษาเต่าทุกประเภทที่บาดเจ็บจากการถูกทำร้ายหรือจากอุบัติเหตุจนหายดี แล้วปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเต่า เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกได้ร่วมกันอนุรักษ์และปกป้องเต่าอย่างจริงจัง
American Tortoise Rescue จึงกำหนดให้มี “วันเต่าโลก” เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 จากนั้นทุกวันที่ 23 พฤษภาคมของทุกปีจึงถือเป็น “วันเต่าโลก” (World Turtle Day) นับจากนั้นเป็นต้นมา
ประเภทของเต่า
เต่าในโลก แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือเต่าบก (Tortoise) เต่าน้ำ/เต่าน้ำจืด (Terrapin) และเต่าทะเล (Turtle)
เต่าบก (Tortoise) คือ เต่าที่ไม่สามารถว่ายน้ำหรือใช้ชีวิตอยู่ในน้ำได้ เนื่องจากเต่าบกจะมีกระดองเป็นโดม นูนสูง มีน้ำหนักมาก ส่วนขามีลักษณะกลม ผิวหนังเป็นเกล็ดหยาบ มีเล็บที่แข็งแรงเพื่อใช้ขุดดินหาอาหารและป้องกันตัวเองจากนักล่า ลักษณะเหล่านี้ทำให้เต่าบกไม่สามารถว่ายน้ำได้
พฤติกรรมของเต่าบกส่วนใหญ่จะอยู่บนบกหรือบนพื้นดินตลอด เวลาเดินจะยกตัวสูงเพื่อไม่ให้ท้องขูดกับพื้นดิน และกินพืชเป็นอาหาร แต่มีบางสายพันธุ์ที่กินทั้งพืช สัตว์และแมลง
เต่าน้ำ / เต่าน้ำจืด (Terrapin) ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในน้ำจืด จะขึ้นบกมาเมื่อต้องการวางไข่หรืออาบแดดบ้างในบางครั้งเท่านั้น มีกระดองเรียบค่อนข้างแบน นูนต่ำและมีน้ำหนักเบากว่าเต่าบกเพื่อช่วยในการลอยตัวเวลาอยู่ในน้ำ ขาไม่มีเกล็ด ผิวหนัง ชุ่มชื้นและค่อนข้างยืดหยุ่น เท้าแบนและมีพังผืดระหว่างนิ้วเท้า มีเล็บขนาดเล็กเพื่อใช้ในการว่ายน้ำ กินสิ่งมีชีวิตเล็กๆในน้ำ บางชนิดกินพืชในน้ำเป็นอาหารด้วย
เต่าทะเล (Turtle) ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในทะเล จะขึ้นมาบนบกต่อเมื่อต้องการวางไข่เช่นเดียวกับเต่าน้ำ แต่เต่าทะเลจะต่างจากเต่าน้ำตรงที่เท้าทั้งสี่จะมีลักษณะเป็นครีบแบน เพื่อช่วยในการว่ายน้ำให้ดียิ่งขึ้นกว่าเต่าน้ำที่มีแต่พังผืด ส่วนกระดองจะมีลักษณะเป็นเกล็ดปกคลุม มีรูปทรงรีหรือรูปหัวใจซึ่งได้วิวัฒนาการมาให้เหมาะกับการว่ายน้ำนั่นเอง แต่ทว่าเต่าทะเลไม่สามารถหดหัวและขาเข้าไปในกระดองได้
เต่าทะเลกินได้ทั้งพืชและสัตว์ สามารถวิวัฒนาการตัวเองให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เพื่อลดการแย่งชิงแหล่งอาหารด้วยกันเอง รวมถึงสามารถเปลี่ยนกระดองได้ตามสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่เพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรูใต้น้ำ นอกจากนี้ เต่าทะเลบางตัว ยังสามารถว่ายน้ำได้เร็วถึง 35 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือสามารถว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรนับเป็นระยะทางกว่าร้อยไมล์ได้อีกด้วย
ชีววิทยาของเต่า
การวางไข่ของเต่า โดยทั่วไปจะขุดหลุมบนพื้นดินหรือพื้นทราย เมื่อวางไข่เสร็จแล้ว ก็จะเอาดินหรือทรายกลบรังไข่ไว้ และจะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 90-120 วัน พอไข่ฟักออกมาแล้ว จะมีถุงไข่แดงติดอยู่บริเวณท้องออกมาพร้อมลูกเต่าด้วย ซึ่งถุงไข่นี้เองที่จะเป็นแหล่งอาหารสำหรับลูกเต่าช่วงสองสามวันแรก จนกว่าลูกเต่าจะสามารถกินอาหารแข็งได้ และในช่วงแรกเกิดนี้ แม่เต่าจะดูแลลูกเต่าก่อนประมาณ 80 วัน หลังจากนั้นลูกเต่าต้องพยายามเอาตัวรอดด้วยตัวเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเต่าแต่ละสายพันธุ์ด้วย เช่น เต่าทะเล เมื่อไข่ฟักแล้ว ลูกเต่าจะต้องรีบคลานลงทะเล พยายามเอาตัวรอดจากอันตรายและนักล่าให้ได้
ส่วนการจำแนกเพศของเต่าทุกประเภทขึ้นอยู่กับอุณหภูมิขณะฟักไข่ หากอุณหภูมิสูงกว่าจุดที่ส่งผลต่อการฟักไข่ (28 - 29 องศาเซลเซียส) จะส่งผลให้ไข่ฟักออกมาเป็นเพศเมียมากกว่า หากอุณหภูมิต่ำกว่าก็จะเป็นเพศผู้มากกว่า ในขณะที่ระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมจะทำให้ไข่เต่าฟักออกมาเป็นเพศผู้และเพศเมียพอๆ กัน อย่างไรก็ตาม การจำแนกเพศของเต่ายังขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์และความแตกต่างทางพันธุกรรมของเต่าในการแพร่พันธุ์และการวางไข่ด้วย
ที่มา: https://www.thainationalparks.com/list-of-turtles-and-tortoises-in-thailand
การที่ “เต่า” เป็นสัตว์ที่มีอายุยืน น่าจะทำให้เต่าเป็นสัตว์ที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เต่ากลับเป็นสัตว์ที่มีปริมาณลดลงเรื่อยๆ จนเข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากเต่าเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการแพร่พันธุ์ต่ำ เพราะกำหนดเพศด้วยอุณหภูมิตอนฟักไข่ การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้มีแต่เต่าเพศเมีย
นอกจากนี้ การเปลี่ยนอุณหภูมิของโลกยังทำให้เต่าไม่สามารถหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการวางไข่ได้ รวมถึงการถูกไล่ล่าจากมนุษย์ เพื่อนำเต่ามาประกอบอาหาร หรือใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง
สถานการณ์เต่าทะเลที่พบในน่านน้ำไทย
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สถิติการวางไข่ของเต่าทะเลลดลงจาก 2,500 รังต่อปี เหลือเพียง 300-400 รังต่อปีเท่านั้น
นอกจากนี้ สถิติผลการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นของ ทช. ระหว่างปี 2558-2560 ยังพบว่า มีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นจำนวน 1,257 ตัว ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นเต่าทะเล 669 ตัว เป็นเต่าที่เกยตื้นและยังมีชีวิตอยู่ 334 ตัว ที่เหลือเป็นซากมาเกยตื้น 335 ตัว
แม้ว่าเต่าจะได้รับการคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่สถิติจำนวนเต่าทะเลยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ในการวางไข่ลดลง เนื่องจากมีการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ปัญหาการลักลอบเก็บไข่เต่า อันตรายจากการติดเครื่องมือประมงอวนลาก รวมถึงการทิ้งขยะลงในทะเล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เต่าทะเลตายด้วยนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/59465/
https://www.matichon.co.th/lifestyle/tech/news_816371
http://www.newworldencyclopedia.org/entry/Tortoise
https://www.thainationalparks.com/list-of-turtles-and-tortoises-in-thailand
https://www.isranews.org/isranews-scoop/62454-marinelife.html
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS