ติมอร์ – เลสเต กับเอกราชในยุคศตวรรษ 21

วันที่ 20 พฤษภาคม 2545 วันที่ “ติมอร์ตะวันออก” หรือ “ติมอร์-เลสเต” ได้ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ

ติมอร์ตะวันออก หรือ ติมอร์-เลสเต มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต (Democratic Republic of Timor-Leste) เดิมที ติมอร์-เลสเต เคยเป็นประเทศในอาณานิคมของโปรตุเกสมาตั้งแต่ปี 2063 กระทั่งเจ้าอาณานิคมถอนตัวออกไปในปี 2518 ติมอร์-เลสเตจึงประกาศเอกราชและจัดตั้ง พรรคการเมืองชื่อ "เฟรติลิน” (Fretilin) เข้ามาบริหารประเทศ โดยมี ซานานา กุสเมา (Xanana Gusmao) เป็นหัวหน้าพรรคและขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรก

หลังจากประกาศเอกราชไม่นาน อินโดนีเซียได้เข้ายึดประเทศและรวมติมอร์ตะวันออกเป็นหนึ่งในจังหวัดของอินโดนีเซีย ทำให้ประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกไม่พอใจพยายามคัดค้าน และลุกขึ้นมาปกป้องอธิปไตยของตนเอง เป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบภายในประเทศขึ้น

กระทั่งรัฐบาลอินโดนีเซียยอมให้ชาวติมอร์ตะวันออกลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นอิสระจากอินโดนีเซีย ในขณะนั้น อินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาภายในประเทศอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤตต้มยำกุ้งของไทยที่ส่งผลกระทบทำให้คนอินโดนีเซียตกงาน ไม่มีเงินหรือแม้แต่อาหาร รวมถึงปัญหาจากการคอร์รัปชั่นอย่างหนักของประธานาธิบดีซูฮาร์โตด้วย

เมื่อประเทศอ่อนแอ ดินแดนต่างๆ ในอินโดนีเซียก็เริ่มเรียกร้องเอกราชให้แก่ดินแดนของตน ประกอบกับในประเทศมีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนทหารอินโดนีเซียไม่สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ทุกพื้นที่ ติมอร์ตะวันออกจึงถือโอกาสนี้ เรียกร้องเอกราชให้กับประเทศของตน แต่กว่าชาวติมอร์จะเรียกร้องเอกราชได้สำเร็จ ต้องเสียเลือดเสียเนื้อไปไม่น้อยเช่นกัน

ย้อนกลับไปในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 กองทัพอินโดนีเซียเปิดฉากยิงถล่มประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเรียกร้องเอกราชอย่างสันติที่งานศพของผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุเผชิญหน้าก่อนหน้านี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้นกว่า 271 คนและสูญหายอีกกว่า 250 คน ภาพความโหดร้ายนี้ ทำให้นานาประเทศทั่วโลกเรียกร้องให้อินโดนีเซียคืนเอกราชให้กับติมอร์ตะวันออก

ในที่สุด รัฐบาลอินโดนีเซียยินยอมให้ชาวติมอร์ตะวันออกลงประชามติ เพื่อแยกตัวเป็นอิสระจากอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2542 ผลปรากฏว่า ประชาชนชาวติมอร์ร้อยละ 80 ออกเสียงสนับสนุนให้มีการแยกตัวเป็นเอกราชจากอินโดนีเซีย จึงทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น เป็นสงครามประชาชนระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนอินโดนีเซีย (รัฐบาลอินโดนีเซียอยู่เบื้องหลัง) และกลุ่มสนับสนุนติมอร์ตะวันออก ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตาย และถูกไล่ออกจากบ้านของตัวเองเป็นจำนวนมาก

ภาพความรุนแรงป่าเถื่อนปรากฏออกสู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง ทำให้สหประชาชาติตัดสินใจจัดตั้งกองกำลังนานาชาติ (International Force in East Timor: INTERFET) เพื่อส่งกำลังทหารเข้ามากดดันกองกำลังของอินโดนีเซียให้ออกไปจากติมอร์ ซึ่งประเทศไทยได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมในเหตุการณ์นี้ด้วย

กระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 ติมอร์ตะวันออกได้ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต (Democratic Republic of Timor-Leste) มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี

ติมอร์-เลสเต มีขนาดพื้นที่ 15,410 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตกติดกับอินโดนีเซีย ส่วนทิศใต้ติดกับทะเลติมอร์และออสเตรเลีย มีเมืองหลวงคือ กรุงดิลี (Dili) มีประชากร 1.17 ล้านคน ส่วนใหญ่ร้อยละ 91 นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

ติมอร์-เลสเต เป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า ได้แก่ ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ หินอ่อน กาแฟ และไม้จันทน์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักที่ทำรายได้ให้กับประเทศ โดยสตาร์บัคส์เป็นผู้ซื้อกาแฟรายใหญ่ที่สุดของติมอร์

นอกจากนี้ พื้นที่ของติมอร์-เลสเต ยังเหมาะแก่การเพาะปลูกและทำปศุสัตว์ แต่ด้วยการขาดแคลนทักษะและความรู้ รวมถึงขาดผู้ลงทุน ทำให้ยังไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ จึงจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจำพวกส่วนประกอบอาหาร ข้าว แป้งสาลี ฯลฯ

ปัจจุบัน รัฐบาลติมอร์-เลสเต มีแผนขยายเศรษฐกิจให้หลากหลายขึ้น ลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมา หันมาสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากติมอร์มีพื้นที่ทางทะเลและพื้นที่ทางนิเวศน์ที่สวยงามและยังสมบูรณ์อยู่มาก แต่การพัฒนาด้านนี้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยติมอร์-เลสเต ได้เปิดให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนในด้านต่างๆ รวมถึงธุรกิจภาคบริการ

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับติมอร์-เลสเตนั้น มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ประเทศไทยเคยให้ความช่วยเหลือติมอร์ในด้านการรักษาความมั่นคงและสันติภาพ เมื่อปี 2542 ให้ความช่วยเหลือในด้านวิชาการ ในการจัดทำโครงการหมู่บ้านต้นแบบตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยส่งผู้เชี่ยวชาญคนไทยเข้าไปให้ความรู้และปฏิบัติงานในโครงการดังกล่าว

นอกจากนี้ยังให้การศึกษาและเรียนรู้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการและการจัดตั้งบริษัทเอกชนด้านพลังงานจาก ปตท. จำกัด (มหาชน) และให้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมของไทย เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวและการประมง

ที่สำคัญ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 11 ของติมอร์ด้วย แต่เนื่องจากความไม่พร้อมของติมอร์ในหลายด้าน ทำให้ประเทศสมาชิกบางประเทศไม่เห็นด้วยที่จะให้ติมอร์-เลสเตเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในตอนนี้ ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์การรับเข้าเป็นสมาชิก หากมีประเทศใดประเทศหนึ่งไม่เห็นด้วยการเป็นสมาชิกจะเป็นอันตกไปทันที

แต่ด้วยความตั้งใจของติมอร์-เลสเต ในการอยากเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน บรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนจึงให้เกียรติ ติมอร์-เลสเต ในฐานะประเทศผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกิจกรรมการประชุมต่างๆ ของอาเซียน

เชื่อว่าศักยภาพของติมอร์-เลสเต ประเทศแรกที่ได้รับเอกราชในศตวรรษที่ 21 จะก้าวหน้าและเติบโตจนพร้อมเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 11 ได้อย่างมั่นคง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.thairath.co.th/content/390931

https://prachatai.com/journal/2012/10/42918

https://en.wikipedia.org/wiki/East_Timor


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment