{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
กองทรัสต์ ‘AIMIRT’ เพิ่มทุนครั้งที่ 2 หนุนประมาณการผลตอบแทนในปีแรกเป็นอย่างน้อย 7.50% เสนอขายผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิมในสัดส่วนประมาณ 80% ของจำนวนหน่วยทั้งหมดที่ออกเพิ่มในครั้งนี้ โดยผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิมมีสิทธิจองซื้อวันที่ 5 – 9 ก.ค.นี้ และเสนอขายประชาชนทั่วไป 5 – 9 และ 12 - 13 ก.ค.
นายอมร จุฬาลักษณานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอไอเอ็ม รีท แมนเนจเม้นท์ จำกัด ผู้จัดการกองทรัสต์ ในฐานะผู้ก่อตั้งทรัสต์และผู้จัดการกองทรัสต์ ‘AIMIRT’ เปิดเผยว่า กองทรัสต์ ‘AIMIRT’ ได้เดินหน้าเพิ่มทุนครั้งที่ 2 โดยจะเข้าลงทุนเพิ่มเติมในกรรมสิทธิ์อาคารคลังสินค้า จำนวน 12 ยูนิต และสิทธิการเช่าอาคารคลังสินค้าระยะเวลา 30 ปี จำนวน 4 ยูนิต รวมมูลค่าไม่เกิน 2,280 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 172,268,908 หน่วย เป็นมูลค่าไม่เกิน 1,980 ล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินประมาณ 300-600 ล้านบาท ซึ่งภายหลังการเพิ่มทุนครั้งที่ 2 นี้ จะทำให้มูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทรัสต์ ‘AIMIRT’ เพิ่มขึ้นแตะระดับประมาณ 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 7,500 ล้านบาท และเป็นหนึ่งในกองทรัสต์กลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำในประเทศไทย
นายจรัสฤทธิ์ อรรถเวทยวรวุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอไอเอ็ม รีท แมนเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวต่อว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมถือว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจสนามบิน โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน ฯลฯ อีกทั้งกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเช่าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ธุรกิจค้าปลีก อุตสาหกรรมการผลิต การส่งออก รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศ ที่ยังสามารถขยายตัวและเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้กองทรัสต์ ‘AIMIRT’ มีผลการดำเนินงานที่มั่นคงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจุดเด่นของกองทรัสต์ ‘AIMIRT’ คือการผสมผสานการลงทุนในทรัพย์สินประเภทอุตสาหกรรมที่หลากหลายทั้งอาคารคลังสินค้า อาคารโรงงาน อาคารคลังห้องเย็น และถังเก็บสารเคมีเหลว และทำเลที่ตั้งของทรัพย์สินที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้านการผลิตและโลจิสติกส์ของประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมปลายทางของผู้เช่ามีความหลากหลาย ไม่ได้กระจุกตัวแค่อุตสาหกรรมกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน กองทรัสต์ ‘AIMIRT’ มีพื้นที่ให้เช่ารวมทั้งสิ้นกว่า 151,026 ตารางเมตร และมีความจุของถังเก็บสารเคมีเหลวให้เช่ารวม 85,580 กิโลลิตร โดยทุกโครงการมีอัตราการเช่าพื้นที่เต็ม 100% ต่อเนื่องมาโดยตลอด
ส่วนการลงทุนเพิ่มเติม ในทรัพย์สินใหม่ 3 โครงการ มีพื้นที่ให้เช่ารวมทั้งสิ้น 117,338 ตารางเมตร ได้แก่ 1) กรรมสิทธิ์ในอาคารคลังสินค้าจำนวน 8 ยูนิต ของโครงการทิพย์ 5 และโครงการทิพย์ 8 (ส่วนลงทุนเพิ่มเติม) จังหวัดสมุทรปราการ จากกลุ่มบริษัท ทิพย์ โฮลดิ้ง จำกัด (‘กลุ่มทิพย์’) มีพื้นที่ให้เช่ารวม 35,774 ตารางเมตร ซึ่งกลุ่มทิพย์ ได้เป็นผู้ขายทรัพย์สินแก่กองทรัสต์ ‘AIMIRT’ มาก่อนหน้านี้เป็นจำนวน 9 ยูนิต 2) กรรมสิทธิ์ในอาคารคลังสินค้า จำนวน 4 ยูนิต ของโครงการเอ็มเอส แวร์เฮ้าส์ จังหวัดสมุทรปราการ จากบริษัท ทู ไทเกอร์ พร็อพ จำกัด พื้นที่ให้เช่ารวม 43,481 ตารางเมตร และ 3) สิทธิการเช่าระยะเวลา 30 ปี ในอาคารคลังสินค้า จำนวน 4 ยูนิต ของโครงการไทยแทฟฟิต้า จังหวัดระยอง จากบริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด พื้นที่ให้เช่ารวม 38,083 ตารางเมตร โดยทุกโครงการมีอัตราการเช่าพื้นที่เต็ม 100% และอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมการผลิตและขนส่งของประเทศ ซึ่งภายหลังเข้าลงทุนเพิ่มเติม จะมีพื้นที่ให้เช่ารวมเพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 268,364 ตารางเมตร และมีความจุของถังเก็บสารเคมีเหลวให้เช่ารวม 85,580 กิโลลิตร
นายธนาเดช โอภาสยานนท์ กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท เอไอเอ็ม รีท แมนเนจเม้นท์ จำกัด
กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ประมาณการการจ่ายประโยชน์ตอบแทน (Dividend Yield) แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ภายหลังกองทรัสต์ ‘AIMIRT’ เข้าลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติม อ้างอิงข้อมูลจากประมาณการการจ่ายประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ต่อหน่วย สำหรับงวด 12 เดือน ในช่วงเวลาประมาณการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 0.8927/1 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่ประมาณ 7.50%
ทั้งนี้ ภายหลังการเข้าลงทุนเพิ่มเติม กองทรัสต์ ‘AIMIRT’ จะมีโครงสร้างของประเภททรัพย์สินซึ่งมีความหลากหลายและกลุ่มผู้เช่าที่กระจายตัวอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยจะมีสัดส่วนรายได้มาจากอาคารคลังสินค้าให้เช่า 49% ถังเก็บสารเคมีเหลว 31% อาคารคลังห้องเย็น 15% และอาคารโรงงาน 5% ซึ่งการลงทุนเพิ่มเติมนี้จะเป็นการเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มผู้เช่าและอุตสาหกรรมปลายทางได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของกองทรัสต์ ‘AIMIRT’ ในรูปแบบกรรมสิทธิ์ (Freehold) เป็น 61% และในรูปแบบสิทธิการเช่าระยะยาว (Leasehold) ที่ 39%
นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวเพิ่มเติมว่า กองรีทส์ (REITs) ในช่วงที่ผ่านมายังคงเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ แม้ว่ามีสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะกองทรัสต์ในกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากสถานการณ์ COVID-19 โดยส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานและอัตราค่าเช่าอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมในบางกลุ่มธุรกิจ เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เป็นต้น
จุดเด่นของกองทรัสต์ ‘AIMIRT’ คือมีการกระจายตัวของทรัพย์สินในกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ตั้งอยู่บนพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าและการคมนาคมขนส่งที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของไทย มีสัดส่วนการลงทุนของทรัพย์สินทั้งประเภทกรรมสิทธิ์ (Freehold) และสิทธิการเช่าระยะยาว (Leasehold) อีกทั้ง มีประวัติผลการดำเนินงานและการจ่ายผลตอบแทนในระดับที่ดีอย่างสม่ำเสมอ
“AIMIRT ถือเป็นหนึ่งในกองทรัสต์กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจ่ายเงินปันผลโดดเด่นมาตลอด แม้ในปีที่ผ่านมาที่มีสถานการณ์ COVID-19 แต่ยังคงมีอัตราการเช่าพื้นที่เต็ม 100% และสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส ตอกย้ำถึงคุณภาพทรัพย์สินที่เข้าลงทุน จึงเป็นกองทรัสต์ที่เหมาะสมกับผู้ที่ต้องการลงทุนในระยะกลางและระยะยาวเพื่อรับผลตอบแทนจากเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง” นางสาววีณา กล่าว
นายกฤชกร นนทะนาคร ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย สายงานตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า หลังจากกองทรัสต์ ‘AIMIRT’ ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนครั้งที่ 2 และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหน่วยทรัสต์ (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ปัจจุบันได้รับการอนุมัติและมีผลใช้บังคับแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนแก่นักลงทุน โดยการลงทุนเพิ่มเติมครั้งนี้จะมีมูลค่ารวมไม่เกิน 2,280 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 172,268,908 หน่วย มูลค่าไม่เกิน 1,980 ล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินประมาณ 300-600 ล้านบาท
สำหรับการเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนครั้งที่ 2 จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 172,268,908 หน่วย แบ่งเป็น (1) เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิม (Preferential Public Offering: PPO) ที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนทะเบียนผู้ถือหน่วยทรัสต์ (Record Date) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ในสัดส่วนประมาณ 80% ของจำนวนหน่วยทรัสต์ที่เสนอขายในครั้งนี้ หรือประมาณ 137,815,126 หน่วย กำหนดอัตราส่วนใช้สิทธิ์จองซื้อที่ 1 หน่วยทรัสต์เดิม ต่อ 0.3233 หน่วยทรัสต์ใหม่ เสนอขายในวันที่ 5 - 9 กรกฎาคมนี้ ในเวลาทำการ ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยการจองซื้อผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้จองซื้อที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถจองซื้อผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT หรือผ่านระบบจองซื้อออนไลน์ ที่ https://moneyconnect.krungthai.com ได้อีกหนึ่งช่องทาง โดยผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิมสามารถจองซื้อตามสิทธิ เกินกว่า น้อยกว่า หรือสละสิทธิไม่จองซื้อก็ได้ และ (2) เสนอขายประชาชนทั่วไป (Public Offering: PO) ซึ่งรวมถึงนักลงทุนสถาบัน บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย โดยสามารถจองซื้อได้ในวันที่ 5 - 9 และ 12 - 13 กรกฎาคมนี้ ในเวลาทำการ ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ (สำหรับช่องทางการจองซื้อผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT และระบบจองซื้อออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สามารถจองซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 5 - 13 กรกฎาคมนี้)
ทั้งนี้ หลังจากจัดสรรหน่วยทรัสต์ให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิมตามสิทธิที่ได้รับจัดสรรแล้ว บริษัทฯ จะจัดสรรหน่วยทรัสต์เพิ่มเติมที่เหลือให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิมที่จองซื้อหน่วยทรัสต์เกินกว่าสิทธิที่ได้รับจัดสรรตามที่เห็นสมควร พร้อมกับหรือภายหลังการจัดสรรให้แก่ประชาชนทั่วไปหรือไม่ก็ได้
สำหรับผู้จองซื้อทุกรายจะต้องชำระเงินจองซื้อหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนที่ราคาเสนอขายสูงสุดที่ไม่เกิน 11.90 บาทต่อหน่วย และจะประกาศราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) วันที่ 14 กรกฎาคมนี้ ภายหลังจากการสำรวจความต้องการจองซื้อจากนักลงทุนสถาบัน (Book building) โดยกรณีที่ราคาเสนอขายหน่วยทรัสต์สุดท้ายต่ำกว่าราคาเสนอขายสูงสุด ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายจะคืนเงินส่วนต่างแก่ผู้จองซื้อทุกราย และคาดว่าบริษัทฯ จะนำหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในเดือนกรกฎาคม 2564
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS