{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น หรือ TCMC เผยไตรมาสแรกของปี64กวาดรายได้แตะ 1.8 พันล้านบาท ปิดดีลซื้อ ‘Arlo & Jacob’ ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ในอังกฤษ เพิ่มศักยภาพการเข้าถึงกลุ่มB2C เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มลูกค้าใหม่
นางสาว ปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TCMC) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2564 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ จำนวน 1,838.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 1,630.39 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.78 และมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 15.29 ล้านบาท ทำได้ดีกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 26.47 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19
ทั้งนี้แม้ว่าในไตรมาส 1 ปี 2564 โรคระบาดโควิด-19 ยังคงมีผลกระทบต่อกิจการของบริษัท โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุปูพื้น จากการที่ลูกค้าหลักของเราอยู่ในภาคการท่องเที่ยวและบริการ (hospitality) ได้แก่ โรงแรม คาสิโน โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง ศูนย์ประชุม ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 และอาจยังไม่ฟื้นตัวได้ในเร็ววันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ เริ่มมีทิศทางดีขึ้น ตามแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว และในส่วนของกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่เราได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้นในทุก ๆ ด้าน และการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจ ทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เราจะมีความพร้อมและกลับมาอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแล้ว ในแง่กลยุทธ์เรายังได้ขยายฐานการผลิตและช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน บริษัทได้เข้าซื้อโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ได้ปิดตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งได้มาช่วยเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงที่ปริมาณคำสั่งซื้อที่เข้ามามากเป็นประวัติการณ์ และในปีนี้เราได้เข้าซื้อกิจการแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติอังกฤษ Arlo & Jacob ซึ่งมีโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ 5 แห่งอยู่ในทำเลที่โด่ดเด่นทั่วประเทศอังกฤษ การเข้าซื้อครั้งนี้จะทำให้เรามีช่องทางในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มผู้บริโภคโดยตรง (B2C) ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น และนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ และนอกจากร้านค้าปลีก Arlo & Jacob ยังมีช่องทางการขายแบบออนไลน์ ซึ่งจะเป็นการปรับรูปแบบธุรกิจเข้าสู่กระแสความนิยมในปัจจุบัน และส่งเสริมกลยุทธ์ของธุรกิจที่มีอยู่ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกมิติ
โดยในไตรมาส 1/2564 กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ (TCM Living) มีรายได้สูงขึ้นร้อยละ 37.23 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยังมีความต้องการซื้อต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แม้ในช่วงสิ้นปี 2563 ประเทศอังกฤษได้เกิดการระบาดของโควิด-19 อีกระลอก ทำให้รัฐบาลอังกฤษประกาศใช้มาตรการบังคับให้กิจการค้าปลีกที่ไม่ใช่ธุรกิจจำเป็นต้องหยุดกิจการจนถึงสิ้นไตรมาสแรก และเพิ่งให้เปิดทำการในวันที่ 12 เมษายน 2564 ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าที่เป็นจ้าของร้านค้าปลีกต่างๆ และแม้ในช่วงที่ล็อคดาวน์ ก็ยังมีคำสั่งซื้อผ่านมาจากช่องทางออนไลน์ และยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 1 กลุ่มธุรกิจยังคงสามารถทำยอดขายได้ 1,311.62 ล้านบาท สูงขึ้นกว่างวดเดียวกันของปีก่อนถึง 37.23% แต่เนื่องจากกลุ่มธุรกิจยังคงประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนโฟม ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น เและการขนส่งระหว่างประเทศที่ยังคงเป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังไม่สามารถควบคุมการบริหารต้นทุนได้ดีนัก อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจมีการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่าย รวมถึงการได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษ ทำให้ค่าใช้จ่ายบริหารลดลงร้อยละ 35.01 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้หลังจากหักค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงิน ค่าภาษีและส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มีผลกำไรสุทธิ 7.27 ล้านบาท
ปัจจุบัน กลุ่มทีซีเอ็ม ลีฟวิ่ง มีแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ในเครือ ได้แก่ Alstons, Ashley Manor, AMX Design, Alexander & James และ Arlo & Jacob ซึ่งบริษัทมีความเชื่อมั่นว่าทั้ง 5 แบรนด์ จะสามารถตอบสนองความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ของลูกค้าในประเทศอังกฤษที่สูงขึ้นมาก จากการต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน และมีแนวโน้มการขยับขยายที่พักอาศัยจากในเมืองสู่นอกเมืองมากขึ้น ทำให้ยังคงมีความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตบริษัทมีแผนการขยายตลาดให้กว้างออกไปอีก ให้ครอบคลุมทั้งทวีปยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง
ในส่วนของกลุ่มวัสดุปูพื้น (TCM Flooring) กลุ่มธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการหยุดชะงักของอุตสาหกรรมบริการและธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้จากการขายและบริการ 304.64 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 34.65 เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทางทั่วโลก ถึงแม้จะมีทิศทางเศรษฐกิจดีขึ้นจากการกระจายวัคซีนได้อย่างกว้างขวางในแถบทวีปยุโรปและอเมริกา แต่ผู้ประกอบการยังคงออมเงินเพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการ จึงยังไม่เห็นการลงทุนในด้านการตกแต่ง แต่จากการที่กลุ่มธุรกิจสามารถควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารจากการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ทำให้กลุ่มธุรกิจมีผลขาดทุนสุทธิ 49.28 ล้านบาท ถือว่าสามารถปรับตัวได้ดีขึ้นกว่างวดเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 24.31
เพื่อเป็นการกระตุ้นรายได้ บริษัทได้เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มลูกค้าในส่วนของที่อยู่อาศัย (Residential) ที่ยังมีกำลังซื้อให้มากขึ้น ซึ่ง ณ ปัจจุบัน สถานการณ์ในตลาดต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย ธุรกิจท่องเที่ยวมีทิศทางที่ดีขึ้น และมีการติดต่อจากลูกค้าต่างประเทศเข้ามามากขึ้น บริษัทจึงมุ่งเน้นการเติบโตของรายได้จากลูกค้าในตลาดที่เริ่มมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้ว ได้แก่ ตลาดอเมริกา ยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มพรมลักช์ชัวรี่ เช่น พรมในร้านแบรนด์เนม พรมบนเครื่องบินส่วนตัว เป็นต้น
สำหรับกลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ (TCM Automotive) มีรายได้จากการขายและบริการที่ 222.43 ล้านบาท สูงขึ้นกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ที่ทำได้ 208.49 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.69 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงปลายปี 2563 ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายการขายและบริหารโดยรวมลดลงจากความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในทุกด้าน และจำกัดงบประมาณต่างๆ ทำให้สิ้นไตรมาส 1 กลุ่มธุรกิจนี้มีผลกำไรสุทธิ 26.72 ล้านบาท สูงขึ้นกว่างวดเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 75.21 โดยแนวโน้มของอุตสาหกรรมรถยนต์มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หุ้มบุในรถยนต์ให้ตอบสนองกับกระแสความนิยมรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาดูสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ที่กลับมาระบาดอีกระลอก ซึ่งอาจจะส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศต้องชะลอตัวอีกครั้ง
ในไตรมาส 1/2564 สัดส่วนรายได้ของบริษัทจากแต่ละกลุ่มธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง โดยรายได้จากการขายและบริการของ กลุ่มธุรกิจ ทีซีเอ็ม ลีฟวิ่ง ได้เติบโตขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญทำให้กลายเป็นรายได้หลัก คิดเป็นร้อยละ 71.33 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.71 กลุ่มธุรกิจ ทีซีเอ็ม ฟลอร์ริ่ง มีสัดส่วนรายได้จากการขายและบริการเป็นลำดับที่สอง อยู่ที่ร้อยละ 16.57 ลดลงร้อยละ 12.02 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากไตรมาสที่ 1 เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจ รวมถึงการได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 ในขณะที่ กลุ่มธุรกิจ ทีซีเอ็ม ออโตโมทีฟ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 12.10 ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์มีปัจจัยหลักที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทยและนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนอุตสาหกรรมและกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในส่วนของทั้งปี 2564 นี้ บริษัทมองว่าเศรษฐกิจในประเทศอาจจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก แต่สำหรับต่างประเทศ ตลาดมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเราเองก็ได้ทำการปรับองค์กรให้มีลักษณะลีนขึ้น ยืดหยุ่นขึ้น เพื่อให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น มีการนำระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ ในขณะเดียวกัน ในแง่ของกลยุทธ์เราก็แสวงหาโอกาสในการเข้าซื้อธุรกิจใหม่ที่จะช่วยเสริมธุรกิจที่มีอยู่เดิม รวมถึงการขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ เพื่อปิดโอกาสการเกิดความเสี่ยงหรือลดผลกระทบจากความเสี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โควิด-19 จึงเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้กลับมาทบทวนตัวเองและพัฒนาปรับปรุงตั้งแต่นโยบายจนถึงการปฏิบัติ เพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง แข็งแกร่งในระยะยาว
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS