ttb analytics คาดปี 64 ราคาเหล็กปรับขึ้น 18% ชี้ธุรกิจที่ใช้เหล็กสูงมาร์จิ้นลด 2-4% แนะผู้ประกอบการบริหารลดสต็อกให้สั้นลงสอดคล้องกับคำสั่งซื้อ

จากสถานการณ์ปัจจุบันราคาเหล็กทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันในปี 2564 ที่ราคาปรับสูงขึ้นกว่า 2 เท่าตัว ทั้งนี้ รายงานของ The World Steel Association (เดือนเมษายน 2564) คาดว่าในปี 2564 การบริโภคเหล็กทั่วโลกจะขยายตัวที่ 5.8% จากปี 2563 ที่หดตัว 0.2% สาเหตุหลักเกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาที่เร่งฉัดวัคซีนและจะเริ่มเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในปลายปี 2564 นี้ โดยสหรัฐอเมริกา มีการบริโภคเหล็กขยายตัว 8.1% และกลุ่มประเทศอียู มีการบริโภคขยายตัว 10.2% ในขณะที่จีน ซึ่งเป็นตลาดเหล็กรายใหญ่ของโลกคิดเป็น 56% ของการบริโภคทั่วโลก คาดว่าปีนี้จะขยายตัวเพียง 3.0% จากปี 2563 ที่ขยายตัวสูงถึง 9.1% เนื่องจากปี 2563 จีนจัดการการระบาดของโรคโควิด-19 ได้เร็วในช่วงไตรมาสแรก ทำให้การบริโภคเหล็กในประเทศกลับมาเร็ว

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ว่าความต้องการเหล็กจะปรับเพิ่มขึ้น จึงเกิดความกังวลด้านซัพพลายเหล็กว่าจะเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกคิดเป็น 58% ของการผลิตโลก มีนโยบายควบคุมโรงงานเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานปล่อยมลพิษในเมืองถังซาน ซึ่งเป็นเมืองที่ผลิตเหล็กคิดเป็น 14% ของกำลังการผลิตรวมในจีน จึงทำให้เกิดการความกังวลด้านซัพพลาย และเก็บกักสต็อกเหล็กในประเทศ ทำให้ราคาเหล็กของจีนและเหล็กทั่วโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาเหล็กที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทบต่อผู้บริโภคเหล็กในประเทศจีนมาก เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางการจีนออกมาตรการควบคุมไม่ให้ราคาเหล็กในประเทศพุ่งสูงขึ้นมากเกินไป ด้วยการควบคุมระดับสต็อกเหล็กของผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อลดการเก็งกำไร ทำให้ราคาเหล็กในจีนปรับตัวลดลง

ttb analytics คาดว่า ในปี 2564 ราคาเหล็กโลกจะเพิ่มขึ้นจากปี 2563 เฉลี่ยกว่า 75% โดยประเมินว่าระดับราคาเหล็กในครึ่งปีแรกจะเป็นระดับราคาสูงสุดในปี 2564 นี้ และในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาเหล็กจะมีเสถียรภาพมากขึ้นจากการที่ทางการจีนใช้มาตรการควบคุมราคาเหล็ก เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภคเหล็กในประเทศ ประกอบกับระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกในประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น หลังปรับลดกำลังการผลิตลงในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ที่ผ่านมากว่า 10-20%

คาดราคาเหล็กในประเทศปี 2564 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18% ในขณะที่ปี 2563 ลดลง 7.2% จากลงทุนเอกชนน้อย การศึกษาความสัมพันธ์การส่งผ่านราคาเหล็กโลกและการลงทุนภาคเอกชนไปยังราคาเหล็กในประเทศ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าการเคลื่อนไหวของราคาเหล็กในประเทศจะแปรผันไปตามภาวะการลงทุนในประเทศ มากกว่าระดับราคาเหล็กในตลาดโลก โดยการลงทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผ่านไปยังราคาเหล็กในประเทศให้เพิ่มขึ้น 0.48% ในขณะที่ระดับราคาเหล็กทั่วโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น 1% จะส่งผ่านไปยังราคาเหล็กในประเทศให้เพิ่มขึ้น 0.13% ดังนั้น จากแนวโน้มการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะเริ่มทยอยฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้หลังจากมีการเร่งฉีดวัคซีนเริ่มส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและส่งผลให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาเหล็กทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการที่จีนเข้ามาควบคุมการเก็งกำไรสต็อกในประเทศ และกลุ่มประเทศผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่มีแรงจูงใจด้านราคาเพิ่มกำลังผลิตเหล็กมากขึ้น จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ttb analytics คาดว่าจะทำให้ราคาเหล็กในประเทศของไทยปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18% โดยครึ่งปีแรกปรับเพิ่มขึ้น 25% ในขณะที่ครึ่งปีหลังปรับเพิ่มขึ้น 12% โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือ การฟื้นตัวของการลงทุนในประเทศ และระดับราคาเหล็กในประเทศจีนเนื่องจากไทยพึ่งพิงการนำเข้าเหล็กจีนถึง 35%ของการนำเข้ารวม โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กโทรนิกส์

คาดการบริโภคเหล็กสำเร็จรูปในประเทศกลับมาฟื้น 5-8% จากปี 2563 ที่หดตัวจากการระบาดของ

โรคโควิด-19

คาดว่า ในปี 2564 นี้การบริโภคเหล็กสำเร็จรูปในประเทศจะขยายตัว 5-8% จากปี 2563 ที่หดตัว 11.6% จากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การบริโภคเหล็กที่นำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปลดลง แม้ว่าการบริโภคเหล็กในปี 2564 นี้ จะมีการฟื้นตัวดีขึ้น จากอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันได้รับผลดีจากการส่งออกที่ดีขึ้น แต่ธุรกิจก่อสร้างที่มีการบริโภคเหล็กถึง 63% ของการบริโภคเหล็กรวมทั้งประเทศ พบว่ายังมีการฟื้นตัวช้า โดยปริมาณการขายปูนซีเมนต์ในไตรมาสแรกของปี 2564 ยังหดตัว 5.9% จากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอลง และประเมินว่าผลกระทบจะต่อเนื่องในไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ช่วงกลางไตรมาส 3 เป็นต้นไป ธุรกิจก่อสร้างจะทยอยฟื้นตัว เนื่องจากจะได้รับผลดีจากการ

กระจายฉีดวัคซีนมากขึ้น การติดเชื้อใหม่ลดลง ในขณะที่ธุรกิจยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประเมินว่าเป็นธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ดีจากภาคการส่งออกที่ดีขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2564 จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในประเทศพัฒนาแล้ว

ธุรกิจบริโภคเหล็กปลายน้ำส่อเค้า มาร์จิ้นลด 2-4%

ttb analytics ทำการศึกษาผลกระทบราคาเหล็กในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยวิเคราะห์จากโครงสร้างต้นทุนเหล็กต่อต้นทุนรวม และอัตรากำไรขั้นต้นจากงบการเงินเฉลี่ยของธุรกิจ โดยเจาะลึกธุรกิจที่บริโภคเหล็กมาก ได้แก่ ภาคก่อสร้าง (63%) ภาคยานยนต์ (17%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (9%) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (5%) พบว่า ระดับราคาเหล็กในประเทศที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18% ในปี 2564 นี้ ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบต่อมาร์จิ้นสูงสุด ได้แก่ เครื่องจักรกลและชิ้นส่วน ยานยนต์และชิ้นส่วน รับเหมาก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยมาร์จิ้นของธุรกิจจะลดลง 4.0% , 3.2% , 3.0% และ 2.4% ตามลำดับ เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้ พึ่งพิงวัตถุดิบเหล็กมาก แต่ความสามารถในการปรับราคาขายต้องใช้เวลานาน ทำให้อัตรากำไรลดลงจากภาวะต้นทุนเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้น และหากแยกผลกระทบรายครึ่งปี พบว่าช่วงครึ่งปีแรกที่ราคาเหล็กในประเทศเพิ่มสูงเฉลี่ย 25% มาร์จิ้นของธุรกิจลดลง 2.3% – 5.3% และในช่วงครึ่งปีหลังราคาเหล็กเริ่มผ่อนคลายทำให้ราคาเหล็กเฉลี่ยเพิ่มขึ้น12% ในขณะที่มาร์จิ้นจะลดลง 1.1% -2.7%

ดังนั้น ธุรกิจผู้บริโภคเหล็กปลายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาขึ้นของวัตถุดิบทำให้มาร์จิ้นลดลง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะบริหารจัดการวัตถุดิบสต็อกเหล็กในคงคลังให้สั้นลงและขายให้เร็วขึ้น และหากเป็นไปได้ เมื่อมีการซื้อวัตถุดิบเหล็กในราคาสูงและจำเป็นต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าขายเมื่อผลิตเสร็จ ควรทำการเจรจากับผู้ซื้อสินค้าล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ซื้อทราบเงื่อนไขเตรียมรับคำสั่งซื้อในราคาที่เพิ่มสูงขึ้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment