{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
คลังโดย สบน.แจงการชำระหนี้ของประเทศต้อง “ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงเวลา”
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะว่า ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 มีจำนวน 8.59 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54.91 ของ GDP ซึ่งหนี้สาธารณะจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมากู้มาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ กู้เพื่อโครงการลงทุนของภาครัฐ ค้ำประกันเงินกู้ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล หรือมีการตรากฎหมายพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ
ในแต่ละปี สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบชำระหนี้ให้กับกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจเพื่อนำไปชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่ครบกำหนดชำระ โดยเมื่อได้รับงบชำระหนี้แล้ว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้นำไปชำระหนี้โดยยึดหลัก “ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงเวลา” อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละปี จะต้องได้รับการจัดสรรและชำระอย่างครบถ้วน ไม่สามารถลด ตัดทอน หรือโยกงบดังกล่าวไปใช้ในการอื่นได้ เพื่อไม่ให้ประเทศต้องเสียความน่าเชื่อถือจากผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งหากผิดนัดชำระหนี้แล้ว จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน
ในส่วนของการจัดสรรงบชำระต้นเงินกู้นั้น คณะกรรมการนโยบายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ได้มีการประกาศเมื่อปี 2561 กำหนดสัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระเพื่อเป็นการสร้างวินัยในการชำระหนี้ โดยต้องได้รับการจัดสรรไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวได้มีการศึกษาแล้วว่าเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมในการบริหารหนี้ของประเทศ
อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องระดมเงินเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จากทุกแหล่งเงินเพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งรัฐบาลเห็นว่างบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ที่กระทรวงการคลังได้รับจัดสรรและอยู่ระหว่างรอการชำระหนี้ตามงวดจำนวน 35,303 ล้านบาท นั้น เป็นวงเงินที่สามารถนำไปให้ความช่วยเหลือได้มาก อีกทั้ง กระทรวงการคลังสามารถปรับโครงสร้างหนี้แทนการชำระคืนหนี้ได้ รัฐบาลจึงขอให้กระทรวงการคลังโอนงบดังกล่าวเข้างบกลางฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชน ซึ่งการโอนงบชำระคืนต้นเงินกู้ดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระต้นเงินกู้ต่ำกว่าที่คณะกรรมการประกาศไว้เดิม ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายวินัยการเงินการคลังของรัฐจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดสัดส่วนดังกล่าวใหม่ให้สอดคล้องข้อเท็จจริงภายใต้สถานการณ์ที่มีอยู่ เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งนี้ คณะกรรมการมีความเห็นว่าเมื่อสภาวะการเงินการคลังของประเทศกลับมาเป็นปกติ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการเสนอให้คณะกรรมการปรับสัดส่วนกลับมาเท่าเดิมในโอกาสแรก
ต่อมาเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐจึงได้กำหนดสัดส่วนงบประมาณ เพื่อการชำระต้นเงินกู้อยู่ที่ร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 4.0 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจได้รับงบชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐที่คณะกรรมการกำหนดที่ร้อยละ 2.5-4.0 โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้คำนึงถึงการรักษาวินัยในเรื่องการชำระหนี้ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของประเทศ ความมั่นคง และการมีเสถียรภาพทางการคลังเป็นสำคัญ
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS