เอ็มเทค สวทช. ส่ง‘เปลความดันลบ’ ช่วยบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มอีก 3 ชุด พร้อมรถส่งของ ‘อารี’ ลดเสี่ยงแพร่เชื้อในโรงพยาบาล

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค สวทช. นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วยทีมวิจัยเอ็มเทค ได้แก่ ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ และ ดร.ก่อเกียรติ เศษชัยชาญ ร่วมกันส่งมอบ PETE (พีท) เปลปกป้อง: เปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 3 ชุด และรถส่งของบังคับทางไกล “อารี” เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับใช้ขนส่งสัมภาระให้ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1 ชุด ให้แก่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม สนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับมือสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช. ได้สร้างนวัตกรรมเปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 หรือ ‘PETE (พีท) เปลปกป้อง’ โดยออกแบบส่วนแคปซูลไร้โลหะ แข็งแรง ปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 สามารถนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์-ซีที สแกนปอด ขณะอยู่บนเปลเพื่อคัดกรองอาการในสถานพยาบาล หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลด้วยรถพยาบาล โดยวันนี้ได้มอบเปลความดันลบ สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งทีมวิจัยได้เร่งผลิตเป็นกรณีพิเศษเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนที่ต้องการบริจาคเปลความดันลบ ให้กับโรงพยาบาลสนามและสถานพยาบาลทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ 1. โรงพยาบาลสนามราชพิพัฒน์ บริจาคโดย นางสมบัติ สามิตสมบัติ 2. โรงพยาบาลกลาง กทม. และ 3. โรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 สังกัดโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ กทม.



ทั้งนี้โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งมี ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) รวมถึงผู้มีจิตศรัทธาอีกหลายท่านและสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนศรีอยุธยา ร่วมบริจาคอุปกรณ์นี้ เพื่อใช้ในการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลทั่วไปจากการแพร่กระจายเชื้อของโรคโควิด-19 รวมถึงลดภาระในการทำความสะอาด นอกจากนั้นแล้ว เอ็มเทค สวทช. บริษัท บุญวิศวกรรม จำกัด และบริษัท เมตริก วิศวกรที่ปรึกษาและสถาปนิก จำกัด ยังส่งมอบ รถส่งของบังคับทางไกล “อารี” เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ให้แก่ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ 1 ชุด เพื่อใช้ในการขนส่งสัมภาระแทนบุคลากรทางการแพทย์ เช่น การส่งอาหาร และยาให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่พักภายในหอผู้ป่วย ช่วยลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยผู้สนใจบริจาค รถส่งของบังคับทางไกล “อารี” ให้กับโรงพยาบาล สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เอ็มเทค สวทช. โทร. 0 2564 6500 ต่อ 4676

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช. กล่าวเสริมว่า ทีมวิจัยรู้สึกดีใจและภูมิใจที่สามารถพัฒนาเปลความดันลบ มาช่วยป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ในภาวะวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทันท่วงที โดยก่อนหน้านี้ได้มีการส่งมอบเปลความดันลบ ให้แก่โรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนไปใช้งานแล้ว 5 แห่ง ซึ่งมีผลตอบรับในการใช้งานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 อย่างดีมาก ทั้งในด้านการใช้งานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่เน้นความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายเชื้อสู่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงความสะดวกรวดเร็วในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางแพทย์ในขั้นตอนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การทำความสะอาดและบำรุงรักษาอุปกรณ์ ซึ่งสวทช. เป็นองค์กรวิจัยที่คิดค้นนวัตกรรมโดยคำนึงถึงและปฏิบัติตามมาตรฐานทางการแพทย์และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยนวัตกรรมเปลความดันลบนี้ ทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและจำหน่าย ให้กับ บริษัทสุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เกิดการผลิตและนำไปใช้งานได้ทันกับสถานการณ์การระบาดต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08 1334 3672

ด้าน ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ในฐานะตัวแทนผู้มีจิตศรัทธา กล่าวว่า โดยปกติแล้วการส่งต่อคนไข้โรคทั่วไปก็จะมีความยากลำบากอยู่แล้ว ยิ่งสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ยิ่งทำให้บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานส่งต่อผู้ป่วยมีความยากลำบากในการหาอุปกรณ์ป้องกันตนเองไปอีกหลายเท่า ดังนั้นเปลความดันลบของเอ็มเทค สวทช. ที่มีการผลิตผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยและนำไปใช้ได้จริงแล้ว จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริจาคเห็นตรงกันว่าควรช่วยสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่มีอุปกรณ์ทำงานที่สะดวก ปลอดภัย ในการส่งต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 สังกัดโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ หรือโรงพยาบาลสนามแห่งอื่นๆ ก็ตาม ซึ่งเดิมรับผู้ป่วยโควิด-19 จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย (ระดับสีเขียว) และเมื่อมีเคสผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีความเสี่ยง มีโรคร่วมที่สำคัญ (ระดับสีเหลือง) เปลความดันลบจึงเป็นคำตอบที่จะสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ ถือเป็นการปกป้องทั้งคนทำงานและผู้ติดเชื้อให้ได้รับการดูแลรักษาโรคในทันที


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment