{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
เลขาธิการ คปภ. อนุมัติแบบกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 ขานรับมติ ครม. ที่เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงิน 311.41 ล้านบาท
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้เตรียมความพร้อมและเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว โดยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ตนในฐานะนายทะเบียนได้ลงนามในคำสั่งนายทะเบียนที่ 21/2564 เรื่อง กำหนดแบบและข้อความกรมธรรม์ของประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 เพื่อกลุ่มเกษตรกรและอัตราเบี้ยประกันภัย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 3 แบบกรมธรรม์ ดังนี้
1. กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 เพื่อกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
2. กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)
3. กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ส่วนเพิ่ม
โครงการฯ ปีการผลิต 2564 ได้กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 (Tier 1) อัตราเบี้ยประกันภัยพื้นฐาน สำหรับลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ ธ.ก.ส. มีอัตราเบี้ยประกันภัย 160 บาท/ไร่ ซึ่งจะได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยจากภาครัฐ 96 บาท/ไร่ และจาก ธ.ก.ส. อีก 64 บาท/ไร่ และอัตราเบี้ยประกันภัยพื้นฐาน สำหรับลูกค้าเกษตรกรทั่วไป มีอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับเขตพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ 150 บาท/ไร่ ความเสี่ยงปานกลาง 350 บาท/ไร่ และความเสี่ยงสูง 550 บาท/ไร่ ซึ่งจะได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยจากภาครัฐ 96 บาท/ไร่ และส่วนที่ 2 (Tier 2) อัตราเบี้ยประกันภัยภาคสมัครใจ สำหรับเกษตรกรที่ต้องการเอาประกันภัยเพิ่มเติมจาก Tier 1 โดยแบ่งอัตราค่าเบี้ยประกันภัยเป็น 3 อัตรา ตามระดับความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่ คือ 90 บาท/ไร่ 100 บาท/ไร่ และ 110 บาท/ไร่ ตามลำดับ
ในส่วนของวงเงินความคุ้มครองคงเดิม คือ วงเงินความคุ้มครองสำหรับ Tier 1 อยู่ที่ 1,500 บาท/ไร่ สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ภัย ได้แก่ 1) ภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก 2) ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง 3) ภัยลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น 4) ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง 5) ภัยลูกเห็บ 6) ภัยไฟไหม้ 7) ภัยช้างป่า สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด อยู่ที่ 750 บาท/ไร่ และวงเงินความคุ้มครองสำหรับ Tier 2 อยู่ที่ 240 บาท/ไร่ สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ภัย และสำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด อยู่ที่ 120 บาท/ไร่ โดยกำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ จนถึงไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 จนถึงไม่เกินวันที่ 15 มกราคม 2565 ซึ่งเกษตรกรสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา
ทั้งนี้ มีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ ปีการผลิต 2564 จำนวน 16 บริษัท ได้แก่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย บมจ.กรุงไทยพานิชประกันภัย บมจ.ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) บมจ.ทิพยประกันภัย บมจ.ไทยไพบูลย์ประกันภัย บมจ.ไทยศรีประกันภัย บมจ.นวกิจประกันภัย บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ บมจ.ฟอลคอนประกันภัย บมจ.มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันส์ บมจ.เมืองไทยประกันภัย บมจ.วิริยะประกันภัย บมจ.สินมั่นคงประกันภัย บมจ.อาคเนย์ประกันภัย บมจ. แอกซ่าประกันภัย และ บมจ.แอลเอ็มจีประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามโครงการฯ ปีการผลิต 2564 สำนักงาน คปภ. จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการฯ ไปก่อนหน้านี้ โดยจัดทำโครงการ “อบรมความรู้ประกันภัย Training for the Trainers” ซึ่งทุก ๆ ปีจะเป็นการลงพื้นที่ตามภาคต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ด้านประกันภัยกับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่วนงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากปีนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีความรุนแรง ส่งผลให้ในหลายจังหวัดของประเทศไทยกำหนดมาตรการเข้มงวดในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ สำนักงาน คปภ. จึงได้ปรับวิธีการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยจัดทำความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น เช่น การจัดทำสื่อวีดิทัศน์ในรูปแบบกราฟฟิกเคลื่อนไหว (motion graphic) การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเกษตรกร (influencer) ในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ การจัดทำสื่อความรู้ในรูปแบบคลิปเสียง การจัดทำข้อมูลความรู้เพื่อเผยแพร่ผ่าน Application “กูรูประกันข้าว” โดยสามารถดาวน์โหลดผ่าน QR code รวมถึงการผลิตสื่อความรู้ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ พร้อมทั้งได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเผยแพร่ สื่อความรู้ต่าง ๆ ผ่านช่องทางที่เข้าถึงเกษตรกรให้มากที่สุด
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS