เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงตลอดทั้งปีหากวัคซีนยังล่าช้า


เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงตลอดทั้งปีหากวัคซีนยังล่าช้า

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจลงอีกครั้งจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในเดือนเมษายน ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจไทยผ่านการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวเป็นหลัก และอาจทำให้แผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องชะลอออกไป ในขณะที่ภาคการส่งออกอาจได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ ควบคุมการระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น และความล่าช้าและความไม่แน่นอนด้านการจัดหาและการกระจายวัคซีน หากประเทศไทยไม่สามารถเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุมประชากรมากพอ ถึงแม้การระบาดระลอกนี้จะสิ้นสุดลง แต่เศรษฐกิจไทยจะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อไป จนสร้างความเสียหายและความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อีก

ปรับการคาดการณ์ตัวเลข GDP จาก 2.7% เป็น 2.2%


การระบาดระลอกใหม่จะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนในช่วงไตรมาสที่ 2 ชะลอตัวลงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐและความวิตกกังวลของผู้บริโภค สถานการณ์การระบาดในรอบนี้รุนแรงกว่ารอบที่ผ่านมาในเดือนมกราคม จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงกว่าในรอบก่อนมาก ในครั้งนี้ KKP Research คาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการควบคุมการแพร่ระบาด และผลกระทบต่อการบริโภคน่าจะรุนแรงและใช้เวลานานกว่าการระบาดในรอบเดือนมกราคม


นอกจากนี้ การระบาดระลอกใหม่ และแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทยยังมีความล่าช้าและมีความไม่แน่นอนสูง จะกระทบต่อความสามารถในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายในปีนี้ จึงปรับลดการคาดการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาในไทยจาก 1 ล้านคนเหลือเพียง 5 แสนคนในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และคาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาได้มากขึ้นในปี 2022 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดจากการฉีดวัคซีนที่ทำได้อย่างรวดเร็วในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรป จะมีส่วนช่วยพยุงการส่งออกของไทย

KKP Research จึงปรับประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP จาก 2.7% ลงมาที่ 2.2% (รูปที่ 1 และ รูปที่ 2) ซึ่งจัดเป็นการฟื้นตัวในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับการหดตัวถึง 6.1% ในปี 2020 และเมื่อเทียบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (ดู KKP Research เมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นไม่ทันเศรษฐกิจโลก ความท้าทายใหม่ที่ต้องเตรียมรับมือ) โดยการระบาดระลอกใหม่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ฟื้นตัวได้ช้าลงกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นประเมินว่าการประมาณการเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงโดยมีความเสี่ยงที่จะลดต่ำลงได้มากกว่านี้โดยขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การระบาดของ

โควิด-19 และมาตรการที่จะนำมาใช้เพื่อควบคุมการติดเชื้อ



การระบาดรุนแรงกว่า กระทบยาวกว่า เศรษฐกิจยังเสี่ยงหดตัว

ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อจากการระบาดระลอกใหม่รุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาและเกิดขึ้นในเมืองใหญ่หลายพื้นที่ หากดูตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน การระบาดระลอกล่าสุดนี้ถือว่าเป็นการระบาดที่รุนแรงที่สุดเมื่อเทียบกับสองครั้งก่อนหน้า (รูปที่ 3) ซึ่งมองว่าภาครัฐจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าการระบาดรอบเดือนมกราคมเพื่อที่จะควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาปกติ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคภาคเอกชนชะลอลงไปกว่าที่เคยคาดไว้ โดยในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาหดตัวลงไปอย่างรวดเร็วอีกครั้งและอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับการระบาดรอบเดือนมกราคมแต่ยังไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดรอบแรกในปี 2020 (รูปที่ 4)


แม้การระบาดระลอกใหม่จะรุนแรง แต่ KKP Research ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจน่าจะรุนแรงกว่าการระบาดรอบเดือนมกราคม 2021 แต่อาจจะไม่มากเท่าการระบาดระลอกแรกในปี 2020 หากพิจารณาผลกระทบจากการระบาดในรอบเดือนมกราคม 2021จะพบว่าการบริโภคหดตัวลง 4% และฟื้นตัวขึ้น 3% ในเดือนถัดไป ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่ารุนแรงน้อยกว่าช่วงการระบาดระลอกแรกในปี 2020 มาก (รูปที่ 5 และรูปที่ 6) และในการระบาดรอบล่าสุดนี้มีการออกมาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ และครอบคลุมหัวเมืองใหญ่มากกว่า ทำให้คาดได้ว่าผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนน่าจะเกิดขึ้นมากกว่าการระบาดเดือนมกราคม และอาจใช้เวลานานขึ้นกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ KKP Research จึงปรับลดการคาดการณ์การบริโภคทั้งปีลงจาก 2.8% มาอยู่ที่ 2.3%



อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่การระบาดระลอกนี้จะยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่ประเมินยังมีอยู่สูงและจะกระทบเศรษฐกิจไทยได้มากกว่าที่คาด และอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง การปรับประมาณการเศรษฐกิจบนสมมติฐานการระบาดที่จะจบลงภายใน 2 เดือนนั้นยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ หรือ ความเสี่ยงที่การระบาดจะยืดเยื้อนานกว่าที่คาด และจำเป็นต้องมีมาตรการที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขอย่างรุนแรง อาจทำให้ต้องมีมาตรการที่รุนแรงขึ้นในการควบคุม ในกรณีที่การระบาดเกิดต่อเนื่องนานถึง 3 เดือน KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้เพียง 1.8% เท่านั้นในปีนี้ (รูปที่ 7) และมีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยหดตัวติดกันสองไตรมาส จนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ได้


ภาคธุรกิจยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่มีกำไรในรูปเงินสด (EBITDA) ติดลบมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง (รูปที่ 8 ) กลุ่มบริษัทที่ไม่ได้กำไรจากการดำเนินธุรกิจแต่ยังคงดำเนินกิจการอยู่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2019 สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตได้ช้าและส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 สัดส่วนของบริษัทในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจาก 12.1% ในปี 2019 ไปเป็น 18.9% ในไตรมาส 2 ปี 2020 แม้ตัวเลขจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากนั้นแต่ยังอยู่ในระดับสูงและสะท้อนความเปราะบางของธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นที่น่ากังวลว่าหากการระบาดระลอกใหม่นี้รุนแรงและยืดเยื้อจะกระทบกับความสามารถในการดำเนินกิจการและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทที่มีสถานะอ่อนแออยู่แล้ว

ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่น่ากังวลมากที่สุดเนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดและการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ล่าช้า KKP Research ปรับการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจาก 1 ล้านคนเหลือเพียง 5 แสนคนในปี 2021 จากวัคซีนที่มีการฉีดได้ค่อนข้างช้า การระบาดรอบใหม่ของประเทศไทย และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวขาดความมั่นใจในการเดินทางระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจะยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักในปีนี้ และจะมีโรงแรมจำนวนมากโดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่จะไม่สามารถเปิดกิจการต่อไปได้ เมื่อพิจารณาข้อมูลสัดส่วนของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีกำไรในรูปเงินสดติดลบเป็นรายธุรกิจจะพบว่าในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงภาวะวิกฤตและสูงขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งตลาด (รูปที่ 9) สะท้อนความเปราะบางของธุรกิจกลุ่มนี้


วัคซีนหนุนเศรษฐกิจโลกและการส่งออก

การฉีดวัคซีนในหลายประเทศทำได้เร็วและหลายประเทศจะสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้เต็มที่ภายในปีนี้ ในปัจจุบันประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาสามารถฉีดวัคซีนได้มากถึงวันละกว่า 3 ล้านโดสทำให้คาดการณ์ได้ว่าประเทศสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ภายในไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ ในขณะที่ฝั่งยุโรปคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 (รูปที่ 10) หมายความว่าประเทศเศรษฐกิจหลักหลายแห่งจะสามารถกลับมาเปิดประเทศได้เต็มที่และเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งภายในปีนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงสำคัญ คือ การกลายพันธุ์ของเชื้อ

โควิด-19 และประสิทธิผลของวัคซีนที่อาจทำให้โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง และการเปิดประเทศหยุดชะงักได้


เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้ดีจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในปีนี้ โดย BofA Securities มีการปรับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปีนี้ไปแล้วถึง 4 ครั้งจาก 4.5% ช่วงต้นปี เป็น 7% ในปัจจุบัน สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐ ฯ ที่จะเติบโตอย่างร้อนแรงในปีนี้ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของประธานาธิปดี Joe Biden สอดคล้องกับการปรับประมาณการของ IMF ล่าสุดที่ปรับตัวเลขเศรษฐกิจโลกขึ้นจาก 5.5% เป็น 6% ส่งผลสำคัญให้ในช่วงที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกทั่วโลกสามารถขยายตัวได้ดีมากโดยเฉพาะหลายประเทศในทวีปเอเชีย (รูปที่ 11)


แม้การส่งออกไทยจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่น แต่ด้วยอุปสงค์โลกที่กลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งทำให้คาดการณ์ว่าไทยจะได้รับประโยชน์และจะช่วยให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ดีเช่นกันในปีนี้ KKP Research ปรับประมาณการการขยายตัวของการส่งออกจาก 6.4% เป็น 7.9% ทำให้ในปีนี้คาดว่ากลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกจะเป็นกลุ่มหลักที่สามารถฟื้นตัวได้ดีกว่าธุรกิจที่พึ่งพาอุปสงค์ในประเทศ

เศรษฐกิจฝากความหวังไว้กับนโยบายวัคซีน

นโยบายวัคซีนเป็นนโยบายที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในห้วงเวลานี้ สำคัญมากกว่านโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งด้านการเงินและการคลังที่ทำได้เพียงเยียวยาและซื้อเวลาให้กับเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะถ้าไทยยังไม่สามารถควบคุมการระบาดและฉีดวัคซีนได้อย่างเพียงพอ ก็ยังมีความเสี่ยงที่การระบาดจะกลับมา และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้อีก

การฉีดวัคซีนของไทยถือว่าช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ไม่ใช่เฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น แม้แต่ประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่ำกว่าไทยหลายประเทศก็มีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรได้เร็วกว่าไทยมาก (รูปที่ 12) อัตราการฉีดวัคซีนของไทยยังอยู่ที่เพียงราว 1% ของประชากรไทย และแผนการจัดหาและฉีดวัคซีนอาจจะล่าช้าจนทำให้ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในปีนี้

จากการคำนวณของ KKP Research บนสมมติฐานอัตราการแพร่กระจายของเชื้อโควิด 19 (R0 = 2.5) และประสิทธิผลของวัคซีน AstraZeneca ที่ 70% ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่รัฐบาลไทยเลือกใช้และมีประสิทธิผลค่อนข้างต่ำกว่าวัคซีนหลายตัวที่ใช้ในต่างประเทศ หากต้องการให้ประชากรไทยมีภูมิคุ้มกันได้มากพอที่จะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ จำเป็นต้องฉีดวัคซีนถึง 85% ของคนไทยทั้งหมด หรือประมาณ 60 ล้านคน ซึ่งหมายถึงประเทศไทยต้องการวัคซีนมากกว่า 100 ล้านโดส เทียบกับที่รัฐบาลคาดว่าจะจัดหามาได้ 65 ล้านโดส ที่จะครอบคลุมประมาณ 50% ของประชากรภายในปีนี้ ซึ่งต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ถึงวันละ 300,000 โดสในอีก 7 เดือนข้างหน้า ซึ่งอาจจะเป็นความท้าทายอีกประเด็นในการบริหารจัดการ แม้ว่าจะมีความพยายามในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องปริมาณและระยะเวลาการส่งมอบ

KKP Research ประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาถึงกลางปี 2022 กว่าที่ประเทศไทยจะสามารถเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ได้และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่



เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงหดตัวเพิ่มเติมได้ตลอดทั้งปี

KKP Research ประเมินว่าแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทยที่ทำได้อย่างล้าช้า จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและยังเสี่ยงหดตัวเพิ่มเติมได้อีกตลอดทั้งปี 2021 นี้ จากหลายปัจจัย ดังนี้

1) การระบาดระลอกใหม่หลังจากนี้ที่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก ซึ่งจะส่งผลสำคัญต่อทั้งกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศและแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทย ผ่านมาร่วมปีกว่า แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งไทยที่เกิดการแพร่ระบาดเป็นระลอกที่สามแล้ว ชัดเจนว่าสิ่งเดียวที่จะหยุดยั้งโควิด-19 ได้คือวัคซีน ตราบใดที่ประชากรในประเทศยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเพียงพอที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ก็จะตกอยู่ในวังวนของปัญหาการระบาดระลอกต่อ ๆ ไป กระทบทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและความสามารถในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

2) ความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุขอาจถึงขีดจำกัด แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุด แต่การระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงและการขาดการวางแผนในการรองรับผู้ป่วยจำนวนมากล่วงหน้าทำให้ระบบสาธารณสุขอาจถึงขีดจำกัดได้เร็วกว่าคาดในกรณีการระบาดระลอกปัจจุบันมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจำนวนกว่า 25,000 คน KKP Research ประเมินว่าหากจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาเพิ่มขึ้นถึง 30,000 คน จะทำให้ระบบสาธารณสุขถูกทดสอบอย่างรุนแรง และอาจทำให้ต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นในการควบคุมการระบาดซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น

3) แผนการนำเข้าวัคซีนของรัฐบาลไทยยังคงฝากความหวังไว้กับ AstraZeneca เกือบทั้งหมด และยังพึ่งพาการผลิตจากแหล่งเดียว ทำให้ยังมีความเสี่ยงอยู่สูงจากทั้งเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ ผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีน และปัญหาในการผลิตวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย แตกต่างจากหลายประเทศที่มีการกระจายความเสี่ยงจากวัคซีนหลากหลายผู้ผลิต (รูปที่ 13) ดังนั้น การเลือกใช้วัคซีนตัวเดียวเป็นหลักสำหรับคนทั้งประเทศจึงเป็นความเสี่ยงสำคัญและสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล

4) จากประสบการณ์ในต่างประเทศ แม้เริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว การติดเชื้ออาจจะไม่ได้ลดลงในทันที (รูป14) โดยเฉพาะหากมีการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางเร็วเกินไป มาตรการต่างๆและการระวังตัวอาจจะยังคงต้องมีต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นอีก จนกว่าจะฉีดวัคซีนได้มากถึงระดับหนึ่ง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจึงอาจจะใข้เวลาสักระยะ

[รูปที่ 14]



นโยบายการเงินและการคลังทำได้เพียงประคับประคอง

นอกเหนือจากความเสี่ยงด้านสุขภาพ มาตรการเพื่อควบคุมการระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจและกระแสเงินสดของธุรกิจ แรงงาน และครัวเรือน อย่างไรก็ดีหากนโยบายด้านวัคซีนยังไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ เศรษฐกิจไทยจะยังคงมีความเสี่ยงต่อการระบาดรอบใหม่อีกในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยการเยียวยาและแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง การลำดับความสำคัญในการใช้เงินของรัฐในปัจจุบันจึงควรเน้นการบริหารทรัพยากรเพื่อควบคุมการติดเชื้อ การสร้างศักยภาพด้านสาธารณสุข การจัดหาวัคซีน การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และการกระตุ้นเศรษฐกิจและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังการระบาด

KKP Research คาดการณ์ว่าในระยะสั้น นโยบายการคลังจะยังคงเน้นการใช้มาตรการเยียวยาประเภทเงินโอนต่อไปอีก โดยจะใช้งบประมาณจากวงเงิน พรก. เงินกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ที่ยังคงเหลือประมาณ 2.5 แสนล้านบาทภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงแผนการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จำเป็นสำหรับการสร้างงานและการสร้างรากฐานการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว จะยังคงไม่ได้รับการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม

แม้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อรายได้ น่าจะเข้าใกล้เพดานตามกฎหมายที่ร้อยละ 60 แต่ด้วยต้นทุนทางการเงินที่ปรับลดลงมาค่อนข้างมาก ประเทศไทยยังมีความสามารถในการกู้เพิ่มได้หากมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินเพื่อควบคุมการระบาด เยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจ ตราบเท่าที่การใช้เงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการปรับลำดับความสำคัญของการใช้เงิน มีการรั่วไหลน้อย และให้ความมั่นใจกับตลาดได้ว่าจะมีมาตรการเพื่อรักษาวินัยทางการคลังอย่างยิ่งยวด

สำหรับด้านนโยบายการเงิน KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ไปตลอดปีนี้ ถึงแม้จะมีการระบาดระลอกใหม่ที่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่มาตรการส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การใช้มาตรการด้านสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ล่าสุดได้มีการออกมาตรการทางการเงินภายใต้โครงการ‘สินเชื่อฟื้นฟู’ และ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้และให้โอกาสในการปรับตัวแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ดี มาตรการเหล่านี้ ทั้งการเยียวยาและการพักชำระหนี้ เป็นเพียงการซื้อเวลาและแบ่งเบาภาระภาคธุรกิจและครัวเรือนได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น หากรายได้และความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจและแรงงานไทยยังไม่กลับมาเป็นปกติจากการที่ประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตคนก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขและจะยิ่งพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ ทางออกสำคัญ ณ เวลานี้คือความพยายามจัดหาและบริหารทรัพยากรด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาด พร้อมกับการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้กับคนไทยให้ได้เร็วที่สุด


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment