เอ็กซ์พีริสเผยความต้องการแรงงานไอทีก้าวกระโดด

เอ็กซ์พีริส ประเทศไทย เผยผลสำรวจล่าสุดถึงความต้องการแรงงานไอทีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมเจาะลึกสายอาชีพเติบโตสูงสวนกระแส แม้ในสถานการณ์โควิด-19

เอ็กซ์พีริส บริษัทในเครือแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดผลสำรวจถึงแนวโน้มตลาดงานด้านไอทีที่มีความต้องการสูงรองรับยุคดิจิทัล ชูปัจจัยการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วของเทคโนโลยี เร่งภาคธุรกิจขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ พร้อมเปิดค่าตอบแทนสายงานไอทีเริ่มต้น 15,000 จนถึง 650,000 ต่อเดือน

มร.ไซมอน แมททิวส์ ผู้จัดการระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากทั้งวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคอุตสาหกรรม, ธุรกิจต่างๆ รวมทั้งแรงงานต้องปรับตัวให้พร้อมรับมือ บุคลากรสายงานไอทีนับเป็นกลุ่มงานที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูงและยังมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปีด้วย จากการคาดการณ์ในอีก 5 ถึง 10 ปีข้างหน้าจะเห็นว่าทิศทางความต้องการในสายงานไอทียังคงเติบโตเป็นแบบขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับจำนวนบุคลากรไอทีในตลาดงานที่ไม่เพียงพอและอยู่ในภาวะขาดแคลน โดยมี 4 ปัจจัยหลักเป็นตัวขับเคลื่อน ได้แก่

ปัจจัยแรก การเติบโตของกลุ่มเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ อาทิเช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), Robotic Process Automation (RPA), บิ๊กดาต้า (Big Data), คลาวด์ (Cloud), อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things-IoT) และฟินเทค (Fintech) เป็นต้น ซึ่งเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเชิงธุรกิจทำให้โครงสร้างพื้นฐานไอทีของหลายๆ องค์กรเติบโตไปด้วย ดังนั้นจึงทำให้มีความต้องการบุคลากรไอทีจำนวนมากเข้ามาช่วยในส่วนนี้

ปัจจัยที่สอง ในทุกภาคส่วนของธุรกิจมีการเร่งทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นเพื่อตอบโจทย์ประสบการณ์และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล ซึ่งกลุ่มที่เห็นได้ชัดก็คือ กลุ่มธนาคารและการเงิน ซึ่งปัจจุบันการใช้งานและธุรกรรมต่างๆ ทางการเงินทำได้ง่ายผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งกลุ่มการประกันภัย การสื่อสาร ธุรกิจค้าปลีก และยังตามมาด้วยกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มพลังงาน, กลุ่มทรัพยากรบุคคล, ภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่สาม มาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, โลจิสติกส์ และธุรกิจเดลิเวอรี่ ที่ช่วยขับเคลื่อนให้กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตตามไปด้วยอย่างมีนัยสำคัญ และปัจจัยสุดท้าย ก็คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด (COVID-19) เป็นอัตราเร่งให้ทุกองค์กรมีการปรับวิถีชีวิตและการทำงานสู่รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ทำให้รูปแบบการทำงานขององค์กรเปลี่ยนไปเป็นการทำงานแบบรีโมท (Remote Work) และทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) มากขึ้น

สำหรับคนที่ทำงานด้านไอที รูปแบบการทำงานแบบรีโมท (Remote Work) หรือทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด กลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีหลายๆ แห่ง นำรูปแบบการทำงานนี้มาใช้ซึ่งช่วยความยืดหยุ่นในการทำงานของคนทำงานไอที ปัจจุบัน ทำให้หลายๆ องค์กรมีการปรับรูปแบบการทำงานและกลยุทธ์เพื่อเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีมากขึ้น จึงทำให้เกิดความต้องการทางด้านบุคลากรไอทีเพิ่มขึ้นไปอีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ถึงดีมานด์ (Demand) การเติบโตของแรงงานไอทีในตลาด พบว่าในบางช่วงมีการชะลอตัวลงเช่นกัน โดยปีที่ผ่านมาในช่วงไตรมาส 2 หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเพิ่มมากขึ้นเป็นวงกว้างในหลายประเทศทำให้เกิดการล็อคดาวน์ กลุ่มองค์กรมีการปรับแผนและชะลอการจ้างตำแหน่งงานใหม่ ซึ่งมีเหตุผลมาจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ หรือยังไม่มั่นใจในสถานการณ์เบื้องหน้า แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาส 3 และ 4 เริ่มมีการกลับมาของความต้องการบุคลากรด้านไอทีที่มากขึ้นและรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านมุมของซัพพลาย (Supply) ในประเทศไทยและทั่วโลกยังคงประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรไอที จากข้อมูลผลสำรวจการเติบโตของตลาดไอทีทั่วโลกของไอดีซีพบว่า ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561 – 2565 ตลาดไอทีมีสัดส่วนการเติบโตอยู่ที่ประมาณ25.8% ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ภายในปี 2565 คาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนการเติบโตอยู่ที่ 61% ของจีดีพี ส่งผลให้อัตราการจ้างงานด้านไอทีเติบโตควบคู่ไปด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2566 ทั่วโลกจะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรไอทีมากกว่า 2 ล้านตำแหน่ง สำหรับประเทศไทย ปัจจัยหลักๆ ที่ ส่งผลกระทบต่อการขาดแคลน ประกอบด้วย 1. กลุ่มคนรุ่นใหม่เลือกที่จะประกอบอาชีพอิสระ บางคนอาจมองข้ามหลักสูตรที่ใช้ไอที เนื่องจากพวกเขาพบว่าวิชาที่ใช้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้นยากและมีการแข่งขันสูง

2. มหาวิทยาลัยจำนวนมากเปิดสอนสาขาไอทีโดยเน้นที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ ซึ่งข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ประเทศไทยมีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในสาขาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จำนวน 5.7 แสนคนต่อปี แต่ทำงานตรงสายงานแค่เพียง 15% เท่านั้น และในแต่ละปีประเทศไทยสามารถผลิตบัณทิตด้านไอทีที่มีคุณสมบัติเพียงพอกับความต้องการของภาคธุรกิจได้ไม่เกิน 5,000 คน และ 3. บุคลากรไอทีที่มีคุณภาพจะเน้นเลือกทำงานกับองค์กรใหญ่ๆ และบริษัทข้ามชาติหรือบางส่วนก็ได้โอกาสไปทำงานที่ต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนออกไปตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางด้านไอทีของตัวเอง และบางส่วนมีการเปลี่ยนแปลงผันสายงานตัวเองจากไอทีไปทำในสายงานอื่นๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจาก 3 ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าแรงงานด้านไอทีกำลังขาดแคลนอย่างมีนัยสำคัญ จึงอยากขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผนึกความร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง

ทางด้านนางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มด้านค่าตอบแทนในกลุ่มสายงานไอที มีแนวโน้มที่ปรับสูงขึ้นในทุกปี ตรงนี้เป็นผลมาจากแรงงานในสายงานไอทีที่ตลาดต้องการมีการแข่งขันกันสูง องค์กรต่างๆ มีความต้องการบุคลากรไอทีที่มีคุณภาพเพื่อเข้ามาช่วยขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุคดิจิทัล รวมทั้ง บุคลากรในสายงานนี้อยู่ในสภาวะขาดแคลนในตลาดแรงงาน แต่ละองค์กรจึงมีการแข่งขันในการเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ เพื่อดึงดูดและเก็บรักษาบุคลากรเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นจากโครงสร้างเงินเดือนของบุคลากรในสายงานไอทีเริ่มตั้งแต่ระดับบัณฑิตจบใหม่ ไปจนถึงระดับผู้บริหาร โดยเริ่มตั้งแต่ต้นที่ 15,000 ไปจนถึง 650,000 ต่อเดือน ทั้งนี้อยู่กับคุณสมบัติและประสบการณ์ ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะด้านภาษา ค่าเฉลี่ยค่าจ้างแบบรายเดือนที่เป็นพนักงานประจำแบ่งเป็น ดังนี้

• อายุงาน 0-2 ปี เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 15,000 – 35,000 / เดือน

• อายุงาน 3-5 ปี เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 38,000 – 46,500 / เดือน

• อายุงาน 6-8 ปี เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 50,000 – 75,000 / เดือน

• อายุงาน 9-10 ปี เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 82,000 – 105,000 / เดือน

• อายุงานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 118,000 – 250,000 / เดือน

• อายุงานมากกว่า 20 ปีขึ้นไป เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 280,000 – 650,000 / เดือน

นอกจากนี้ ทางเอ็กซ์พีริสยังมีการสรรหาบุคลากรในสายงานไอที โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มบริการ ได้แก่ การบริการสรรหาพนักงานประจำด้านไอที (IT Permanent Service) รองรับตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ จนถึง ผู้บริหารระดับสูง เพื่อรองรับการขับเคลื่อนดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นให้กับลูกค้าทั้งภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม ส่วนกลุ่มที่สอง คือ การบริการสรรหาบุคลากรทางด้านไอทีที่เป็นพนักงานสัญญาจ้าง ระยะสั้น ไปจนถึงระยะยาว (IT Staffing Service) รองรับตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ จนถึง ผู้บริหารระดับสูง ให้กับบริษัทลูกค้าที่ไม่ต้องการจ้างพนักงานให้เป็นพนักงานประจำของบริษัทลูกค้าโดยตรง อีกทั้ง ยังให้บริการทางด้าน IT outsourcing ที่เน้นการให้บริการตามความต้องการเฉพาะเจาะจงของลูกค้า

ล่าสุด ได้ทำการจัดอันดับ 5 ความต้องการแรงงานสูงสุดและเงินเดือนในแต่ละกลุ่มงาน แบ่งเป็น IT Permanent ได้แก่ 1. AI and Data อาทิเช่น AI Specialists, Data Scientists, Data Engineer, Big Data Developer, Data Analyst ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 40,000 – 195,000 บาทต่อเดือน 2. Engineering and Cloud เช่น Reliability Engineer, DevOps, Cloud Computing, Cloud Architect, Cloud Solutions Consultant, Python Developer ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 35,000 – 155,000 บาทต่อเดือน 3. Software & Application Developers เช่น Software Engineer, Application Engineer / Developer, Frontend / Backend / Full Stack Engineer / Developer, Mobile Application Developer, Programmer ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 33,500 – 110,000 บาทต่อเดือน 4. Product Development เช่น Product Owner, Quality Assurance Tester / Engineer, Agile Coach, Software Quality Assurance Engineer, Product Analyst, Scrum Master ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 42,000 – 145,000 บาทต่อเดือน 5. Sales, Marketing and Content เช่น Social Media Assistant / Content Production, Growth Hacker, Customer Success, Sales Development Representative, Specialist Digital Marketing Specialist ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 28,000 – 108,000 บาทต่อเดือน

ส่วนทางด้าน IT Staffing มีดังนี้ 1. Software / Application / Mobile Developers เช่น Software Engineer, Application Engineer / Developer, Frontend / Backend / Full Stack Engineer / Developer, Mobile Application Developer, Programmer ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 40,000 – 150,000 บาทต่อเดือน 2. SAP Consultant ใน Module ต่างๆ อาทิเช่น SAP FI/CO, SD, MM เป็นต้น ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 – 260,000 บาทต่อเดือน 3. Project Management / Project Admin / Project Manager / Project Coordinator ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 – 200,000 บาทต่อเดือน 4. Helpdesk / IT Support Engineer ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 – 100,000 บาทต่อเดือน 5. Software Tester / QA ระดับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 35,000 – 90,000 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในสายงานไอทีในยุคนี้นับว่าต้องเร่งสปีดตลอดเวลา เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ภาพของไอทีกำลังเปลี่ยนถ่ายจากยุคฮาร์ดแวร์ไปสู่การเป็นบริการมากขึ้น ดังนั้น บุคลากรสายงานไอทีต้องมีการเรียนรู้อยู่ตลอดทั้งการรีสกิล (Reskill) และ อัพสกิล (Upskill) ในกลุ่มเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น AI, Big Data, Cloud, IoT, Cyber Security, Blockchain, Fintech อย่างต่อเนื่อง ตามด้วยทักษะการทำงานร่วมกัน, การสื่อสาร และความเข้าใจเชิงธุรกิจ และทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทักษะความสามารถเฉพาะทางที่สำคัญเหล่านี้นับเป็นการสร้างความได้เปรียบ รวมไปถึงเป็นการเพิ่มโอกาสเข้าทำงานในบริษัทหรือองค์กรชั้นนำอีกด้วย

สำหรับแรงงานไอทียุคใหม่ต้องรู้ครบเครื่อง ประกอบไปด้วย 5C ดังนี้ 1. Customers Focus มีความสามารถที่จะเข้าใจความต้องการและโจทย์ทางธุรกิจ พร้อมตอบสนองบริการและโซลูชั่นทางเทคโนโลยีได้อย่างแม่นยำ 2. Communication การทำงานในยุคนี้บุคลากรไอทีต้องทำงานเป็นคู่คิดให้กับทีมงานธุรกิจ รวมไปถึงลูกค้า และพันธมิตรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะการสื่อสารจึงเป็นหัวใจสำคัญเพราะต้องใช้สร้างความเข้าใจร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อให้เข้าใจความต้องการและบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ 3. Collaboration การทำงานร่วมกันเป็นทีม ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมากสำหรับบุคลากรไอทีในยุคนี้ ตั้งแต่งานพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการให้บริการทางไอทีนั้น ย่อมต้องมีการระดมความคิดเห็น ความร่วมมือร่วมใจ การช่วยกันแก้ไขปัญหาและการทำงานเป็นทีม เพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ 4. Creativity ความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นทักษะที่บุคลากรไอทีควรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะคนไอทีกำลังแข่งขันสูงด้วยนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์และบริการ และ 5. Commitment เทคโนโลยีในยุคนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมากและองค์กรต่างมีการเร่งทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อพัฒนากระบวนการทางธุรกิจและผลิตภัณฑ์ / บริการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment