วันแจ๊สสากล International Jazz Day

30 เมษายน พ.ศ. 2554 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้เป็นวันแจ๊สสากล (International Jazz Day) เพื่อยกย่องดนตรีแจ๊สในฐานะดนตรีสากลแห่งเสรีภาพ เสมือนทูตที่ช่วยหลอมรวมคนทั่วทุกมุมโลกให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

กำเนิดดนตรีแจ๊ส

ดนตรีแจ๊สกำเนิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่เมืองนิวออลีนส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองแหล่งรวมของทาสผิวสีชาวแอฟริกันจำนวนมากที่มาใช้แรงงานและตั้งถิ่นฐาน หลังจากเลิกงาน เหล่าทาสผิวสีจะรวมตัวกันร้องเพลงเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกต่างๆผ่านออกมาในเสียงเพลง

ลักษณะเฉพาะของดนตรีแจ๊ส คือ การร้องบรรเลงแบบด้นสด ผสานกับจังหวะขัด และการประสานเสียงอันมีเอกลักษณ์ ตามคำจำกัดความของ อ๊อกฟอร์ด กล่าวไว้ว่า “แจ๊สเป็นดนตรีที่ถือกำเนิดจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันซึ่งมีจังหวะชัดเจนที่เล่นอย่างอิสระโดยการประสานกันขึ้นเองของนักดนตรีในขณะที่กำลังบรรเลง”

ดนตรีแจ๊สยุคแรก เรียกว่า ดิกซีแลนด์ (Dixieland) ประกอบด้วยนักดนตรี 5-8 คน มีเครื่องดนตรี คือ คอร์เน็ต ทรัมเป็ต คลาริเน็ต และทรอมโบน หลังจากนั้นได้เพิ่มแซกโซโฟน กลองชุด เปียโน แบนโจ และทูบาเข้าไป

ต่อมา ดนตรีแจ๊สแบบดิกซีแลนด์ ได้พัฒนารูปแบบการจัดวงดนตรีใหม่ เรียกว่า สวิง (Swing) โดยแบ่งเครื่องดนตรีในวงออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ กลุ่มทองเหลือง กลุ่มเครื่องลมไม้ และกลุ่มประกอบจังหวะ เพื่อใช้สำหรับประกอบการเต้นรำ

ดนตรีแจ๊สในประเทศไทย

ดนตรีของชาติตะวันตกเริ่มเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยอยุธยา นำเข้ามาโดยเหล่ามิชชันนารีผู้สอนศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ประเทศไทยได้เจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตก ยิ่งส่งผลให้ไทยได้รับอิทธิพลจากดนตรีตะวันตกในหลายด้าน ทั้งดนตรีสอนศาสนา ดนตรีสำหรับการทหาร และดนตรีเพื่อบันเทิง

ดนตรีแจ๊ส เริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นที่นิยมกันเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนอก และชาวต่างประเทศที่อาศัยในประเทศไทย ในโรงแรมชื่อดังหลายแห่งเริ่มมีวงดนตรีแจ๊สบรรเลงให้แขกเต้นรำ

กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 7 ผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองและนโยบายรัฐที่ต้องการสร้างค่านิยมในสังคมไทยให้ทัดเทียมชาติตะวันตก ได้มีการกำหนดให้ข้าราชการต้องออกงานสังคมในวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วยการไปเต้นลีลาศ ทำให้มีการตั้งวงดนตรีแจ๊สชาวไทยขึ้นหลายวง วงดนตรีแจ๊สแบบดิกซีแลนด์ อาทิ วงเรนโบว์โดยหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ วงมานิตแจ๊สโดย เรือโทมานิต เสนะวีณิน และวงดนตรีแจ๊สแบบบิ๊กแบนด์ ซึ่งตรงกับยุคสวิง (Swing) อาทิ วงกรมโฆษณาการ วงดุริยะโยธิน

วงดนตรีแจ๊สในประเทศไทยในยุคเริ่มต้น มีบทบาทสำคัญ 3 ด้าน คือ เพื่อความบันเทิง ประกอบการเต้นรำ และประกอบภาพยนตร์

ที่สุดแห่งนักดนตรีแจ๊สของประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สผู้มากความสามารถ ทรงดนตรีได้หลายชนิด ทั้ง แซกโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเป็ต กีตาร์ เปียโน ทรงเล่นดนตรีแจ๊สร่วมกับนักดนตรีแจ๊สชาวต่างประเทศจำนวนมาก

นอกจากนี้ นักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงของไทยยังมีอีกหลายคน อาทิ เด่น อยู่ประเสริฐ เทวัญ ทรัพย์แสนยากร เศกพล อุ่นสำราญ (โก้ มิสเตอร์แซกแมน) ศักดิ์ศรี วงศ์ธราดล สบชัย ไกรยูรเสน (ฟอร์ด) และ ภาสกร โมระศิลปิน (มินท์)

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทยยังคงผลิตบุคลากรคุณภาพด้านดนตรีแจ๊ส ออกมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสความห่วงกังวลว่า หากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง

“ดนตรีแจ๊ส” ดนตรีแห่งเสรีภาพและความคิดสร้างสรรค์นี้ จะค่อยๆหดหายไปจากพื้นที่ของสังคมไทย

ขอบคุณข้อมูลจาก

ดนตรีแจ๊สในสังคมไทยในยุคเริ่มต้น โดย กมลธรรม เกื้อบุตร (นเรศวรวิจัย ครั้งที่ 12 วิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนาประเทศ

conferencr.nu.ac.th/nrc12/downloadPro.php?pID=465&file=465.pdf

jazzday.com

jazzbreak.com


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment