ซีพีเอฟ จับมือ อ.ส.ค. เดินหน้าโครงการสี่ประสานสร้างความยั่งยืนโคนมไทย

บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาผู้เลี้ยงโคนมไทย “โครงการสี่ประสาน สร้างความยั่งยืนโคนมไทย” มุ่งเป้าพัฒนาฟาร์มต้นน้ำโคนมไทย พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ให้กับทั้งสหกรณ์โคนม-ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และเกษตรกรโคนม ดันมาตรฐานการจัดการโคนม ได้น้ำนมคุณภาพสูง สร้างผลกำไรสูงสุด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรโคนมสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการทำการแทนผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า โครงการนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือที่จะส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และอุตสาหกรรมนมไทย โดยที่ผ่านมามี 5 ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ที่ได้ร่วมมือกับซีพีเอฟในการพัฒนาตลอดกระบวนการผลิตน้ำนมให้มีมาตรฐาน ส่งผลให้ตัวชี้วัดด้านคุณภาพและประสิทธิภาพมีค่าเฉลี่ยที่ดีขึ้น ทั้งค่าองค์ประกอบน้ำนม ผลผลิต ประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนม รวมถึงด้านความสะอาดของน้ำนม และตั้งเป้าว่าต้องมีค่าโซมาติกเซลล์ (ค่า SCC) ไม่เกิน 500,000 เซลล์ต่อมิลลิลิตร ตามเกณฑ์การรับซื้อน้ำนมดิบตามข้อกำหนดของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม

ด้าน นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทมีองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงและการจัดการโคนมมานานกว่า 30 ปี โดยมีฟาร์มวิจัยและพัฒนาด้านโคนมของซีพีเอฟทั้ง 4 แห่งทั่วประเทศ ที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรคน เครื่องมือ และเทคโนโลยีทันสมัย ที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงโคนม เพื่อแบ่งเบาภาระเกษตรกร ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ด้วยการพัฒนาการจัดการด้านการเลี้ยงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยซีพีเอฟได้เริ่มต้นความร่วมมือพัฒนาศูนย์นมและเกษตรกรโคนมในเครือข่ายของ อ.ส.ค. รวม 5 ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ได้แก่ สหกรณ์โคนมกระนวนสามัคคี, สหกรณ์โคนมน้ำพอง จ.ขอนแก่น, สหกรณ์โคนมหนองวัวซอ จ.อุดรธานี, สหกรณ์โคนมแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ และสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คลำพญากลาง จ.สระบุรี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา

“ซีพีเอฟ และ อ.ส.ค. มีเป้าหมายเดียวกันในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมนมไทยทั้งห่วงโซ่ จึงเกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น และยังร่วมกันตั้งเป้าหมายในการขยายโครงการฯ ไปอีก 7 ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบทั่วประเทศ ภายในปีนี้ คาดว่าจะมีประชากรโคนม มากกว่า 12,000 ตัว มุ่งเป้าสู่ “การเกษตรแบบแม่นยำ” ด้วยการเก็บข้อมูลบันทึกการเลี้ยง สำหรับนำมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และสามารถวัดผลได้ พร้อมส่งต่อองค์ความรู้และมาตรฐานของซีพีเอฟสู่เกษตรกรโคนม มุ่งเน้นให้คนเลี้ยงโคนมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนร่วมกันสร้างผลผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพ สด สะอาด ปลอดภัย สู่ผู้บริโภค” นายเรวัติกล่าว




COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment