{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการสารสนเทศทรัพยากรน้ำ โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 – 2562 มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 2,019.38 ล้านบาท และมีโครงการสำคัญที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพและบำรุงรักษาสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ โครงการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศน้ำระดับตำบล และโครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากการสุ่มตรวจสอบ พบว่า มีผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพและบำรุงรักษาสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ โดยสถานีโทรมาตรฯ มีประสิทธิภาพการทำงานเป็นไปตามเกณฑ์ชี้วัดที่กำหนด กล่าวคือ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2562 สามารถให้บริการข้อมูลสนับสนุนการเตือนภัยและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยได้ถูกต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 99 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ชี้วัดที่กำหนด เป็นต้น ส่วนอีก 2 โครงการมีประเด็นข้อตรวจพบและข้อสังเกตที่สำคัญ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานโครงการภายใต้กิจกรรมการให้บริการส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด จากการตรวจสอบโครงการทั้งหมด ภายใต้กิจกรรมการให้บริการระหว่างปี พ.ศ. 2555 – 2562 ซึ่งมีผลผลิตคือฐานความรู้และเทคโนโลยีด้านการจัดการทรัพยากรน้ำและการเกษตร พบว่ามีโครงการที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด จำนวน 52 โครงการจากทั้งหมด 74 โครงการ หรือคิดเป็นร้อยละ 70.27 ซึ่งบางโครงการเป็นโครงการที่มีความสำคัญต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน หากมีความล่าช้าอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
2. การดำเนินกิจกรรมหลักภายใต้โครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังขาดการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง จากการสุ่มสังเกตการณ์พื้นที่ดำเนินกิจกรรมหลักภายใต้โครงการสร้างแม่ข่ายฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พบว่าเกษตรกรบางส่วนไม่มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องภายหลังสิ้นสุดการเข้าร่วมโครงการ อาทิ ชุมชนแม่ข่ายฯ จำนวน 17 ชุมชน จากทั้งหมด 23 ชุมชน หรือคิดเป็นร้อยละ 73.91 ไม่มีการปรับปรุงข้อมูลแผนที่น้ำภายในชุมชนเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชน อีกทั้งยังไม่มีการจัดทำระบบการรายงานติดตามประเมินผลการดำเนินงานของชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขาดข้อมูลในการวางแผนการดำเนินงานกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการสร้างแม่ข่ายฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. การควบคุมครุภัณฑ์ที่ให้ชุมชนแม่ข่ายยืมใช้ในการดำเนินโครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขาดประสิทธิภาพ จากการตรวจสอบ พบว่าการควบคุมครุภัณฑ์ที่ให้ชุมชนแม่ข่ายยืมใช้ในการดำเนินงานโครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังขาดประสิทธิภาพ อาทิ บันทึกข้อมูลครุภัณฑ์ไม่ครบถ้วน ไม่มีเอกสารสัญญาหรือหลักฐานการยืมหรือการให้ยืมครุภัณฑ์ให้ตรวจสอบ ทำให้ขาดข้อมูลสำคัญในการบริหารจัดการและติดตามประเมินผลการใช้งานครุภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องครบถ้วน
4. เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาภูมิสารสนเทศน้ำระดับตำบลบางส่วน ยังไม่มีการนำแผนที่แหล่งน้ำระดับตำบลและองค์ความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่การดำเนินโครงการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศน้ำระดับตำบล มีกิจกรรมหลักที่สำคัญ 2 กิจกรรม คือ การจัดทำแผนที่แหล่งน้ำระดับตำบล และการจัดฝึกอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านภูมิสารสนเทศให้แก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาศักยภาพในการใช้แผนที่ จากการสุ่มตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบภูมิสารสารเทศน้ำระดับตำบล พบว่า อปท. บางแห่งยังไม่มีการนำแผนที่แหล่งน้ำระดับตำบล และองค์ความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อความถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูลในแผนที่แหล่งน้ำระดับตำบล ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับสภาพพื้นที่จริงในปัจจุบัน ทำให้ฐานข้อมูลแหล่งน้ำระดับตำบลในภาพรวมไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากแหล่งน้ำในแต่ละพื้นที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การบริหารจัดการสารสนเทศทรัพยากรน้ำบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ คุ้มค่ากับการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไข อาทิ ปรับปรุงระบบติดตามและประเมินผลการดำเนินงานให้มีความต่อเนื่องและเป็นระบบ ดำเนินการปรับปรุงการจัดทำทะเบียนคุมครุภัณฑ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เป็นมาตรฐานเดียวกัน และหากในอนาคตมีการดำเนินโครงการในลักษณะเช่นนี้อีก ควรกำหนดขั้นตอนการติดตามผลการดำเนินงานภายหลังจากดำเนินโครงการแล้วเสร็จ เพื่อให้ทราบถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการหรือไม่ และนำมาพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อให้การใช้งบประมาณแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุด
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS