อนาคต “โรงงานยาสูบ” ยังเคว้ง ตอนที่ 3 อนาคตไม่สดใส

“ปีงบประมาณ 2561 อาจเป็นปีแรกที่โรงงานยาสูบต้องเจอภาวะขาดทุน นอกจากเจอภาระภาษีที่ทำให้ต้นทุนสูง เจอคู่แข่งดัมพ์ราคาขาย เป้าผลิตหดจาก 30,000 ล้านมวน เหลือ 18,000 ล้านมวน มีภาระค่าใช้จ่ายอุ้มผู้ผลิตใบยา ดูแลโรงพยาบาล ต้องลงทุนเครื่องจักรโรงงานใหม่ เริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง” ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผอ.โรงงานยาสูบ

          “ส่วนแบ่งการตลาดบุหรี่ของโรงงานลดลงไป กำไรลดลงเหลือไม่ถึงซองละ 1 บาท แต่ก็ยังเชื่อว่าจะทำให้โรงงานยาสูบมีกำไรอยู่บ้าง” ยุทธนา หยิมการุญ ผู้ตรวจราชการ ในฐานะกรรมการโรงงานยาสูบ

           คำพูดที่ดูเหมือนจะไม่ตรงกัน แต่พิจารณาให้ดี แนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันคือยอมรับสภาพของโรงงานยาสูบในเวลานี้ว่ามีปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข หากยังอยากอยู่รอดปลอดภัยในวันข้างหน้า

           ความคาดหวังของโรงงานยาสูบก็คือ พ.ร.บ.การยาสูบแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ที่รอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ประเมินว่าเดือนพฤษภาคม 2561 จะเริ่มมีผลบังคับใช้ ที่จะทำให้สถานะของโรงงานยาสูบเปลี่ยนเป็นนิติบุคคล แม้รัฐบาลจะยังถือหุ้น 100% แต่จะทำให้การก้าวเดินของโรงงานสะดวก รวดเร็วและทำภารกิจได้ง่ายขึ้น

           หลังจากรอคอยเวลานี้มานาน 10 กว่าปี แต่ต้องรอดูกันไปอีกทีว่าจะช้าไปหรือไม่

           การรับจ้างผลิตบุหรี่จากบริษัทต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งในแผนที่วางไว้ แต่แผนนี้เคยถูกวางทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนเช่นกัน

แม้ว่าโรงงานยาสูบใหม่ของไทยที่มีกำลังการผลิตถึง 65,000 ล้านมวนต่อปี สูงกว่าปริมาณการผลิตเฉลี่ยปัจจุบันเกือบ 2 เท่า เป็นระบบที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูง จะช่วยลดต้นทุนการผลิต แต่อย่าลืมว่าช่วงที่ผ่านมาบริษัทต่างชาติพากันไปว่าจ้างโรงงานในประเทศอาเซียนผลิตจำนวนมากแล้ว

ส่วนภาพรวมการบริโภคบุหรี่ก็มีแนวโน้มลดลงทั้งในประเทศและทั่วโลก

การสร้างแบรนด์ใหม่เพื่อไปขายในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV จะตีตลาดได้เพียงใด เพราะผู้ผลิตขาใหญ่อย่างจีน อเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่นที่มียอดผลิตบุหรี่รวมกันถึง 80% ทั่วโลก ก็พร้อมทำตลาดในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดมากกว่า 60% ของตลาดบุหรี่โลก

ก็เป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยใจไม่น้อย

ขณะที่การผลิตสินค้าใหม่อย่าง “บุหรี่ไฟฟ้า” ที่ยังเป็นของนำเข้าผิดกฎหมาย จะดำเนินการได้จริงเพียงใด

การปรับลดพนักงานไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำกันอยู่แล้ว

ยังเป็นเรื่องที่คงต้องลุ้นต่อไป ว่าโรงงานยาสูบของไทย จะก้าวสู่อนาคตได้อย่างสดใสภายใต้สถานการณ์การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงอย่างไร้พรมแดนได้ดีแค่ไหน

โดยเฉพาะการรักษาฐานตลาดในประเทศที่ถือเป็นหัวใจหลัก ที่นับวันค่อยๆ ถดถอย

ถ้ารักษาไว้ไม่ได้ อนาคตโรงงานยาสูบคงไม่รุ่งโรจน์เหมือนอดีตอย่างแน่นอน

  

------------------------


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment