{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
“ผู้อพยพ” ในที่นี้หมายรวมถึง แรงงาน (Workers) ผู้ลี้ภัย (Refugee) ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (Asylum Seeker) และคนพลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced People: IDPs)
รายงานการอพยพย้ายถิ่นฐานโลก ปี 2561 (World Migration Report 2018) ขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (international Organization for Migration: IOM) ซึ่งอยู่ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ระบุ ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานทั่วโลกในปี 2558 มีจำนวน 244 ล้านคน คิดเป็น 3.3% ของประชากรโลก เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านคนจากปี 2533 และเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2513 นอกจากนี้ เมื่อปี 2553 ยังมีการคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2593 ทั่วโลกจะมีผู้อพยพจำนวน 405 ล้านคน
ผู้อพยพส่วนใหญ่มาจากแถบยุโรปและเอเชีย คิดเป็น 62% ของผู้อพยพทั่วโลก คือราว 75 ล้านคน รองลงมาคือจากอเมริกาเหนือ แอฟริกา ละตินอเมริกา แคริบเบียน และ โอเชียเนีย ตามลำดับ โดยประเทศจุดหมายปลายทาง อันดับแรกที่ผู้คนอพยพไปคือ สหรัฐอเมริกา มีมากถึง 46.6 ล้านคนในปี 2558 รองลงมาคือ เยอรมนี รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ
52% ของผู้อพยพเป็นเพศชายและอีก 48% เป็นเพศหญิง ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน มีอายุระหว่าง 20-64 ปี
การอพยพย้ายถิ่น ดีอย่างไร?
การอพยพย้ายถิ่นฐานสามารถสร้างประโยชน์มหาศาลแก่ผู้อพยพและสมาชิกในครอบครัว รวมถึงประเทศต้นทางที่ผู้อพยพจากมา รายได้หรือค่าจ้างที่ผู้อพยพได้รับนั้นเพิ่มมากเป็นทวีคูณเมื่อเทียบกับรายได้ที่พวกเขาเคยได้รับเมื่อทำงานที่ประเทศตนเอง ข้อมูลจากรายงานการอพยพย้ายถิ่นฐานโลก ระบุ เงินส่งกลับประเทศจากผู้อพยพก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในประเทศจำนวนมหาศาลและเป็นจำนวนคงที่ โดยในปี 2533 ผู้อพยพได้ส่งเงินกลับประเทศตนเอง ซึ่งเป็นประเทศยากจนและประเทศรายได้ปานกลาง จำนวนรวมกว่า 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นกว่าสี่เท่าตัวเป็น 126,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2543 และเพิ่มขึ้นเป็น 575,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2559 ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าการให้เงินช่วยเหลือของกองทุนพัฒนาด้านต่างๆ ถึง 3 เท่า
ในปี 2559 ประเทศที่ผู้อพยพส่งเงินกลับประเทศมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ อินเดีย จีน ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก และปากีสถาน โดยจีนและอินเดียมียอดเงินส่งกลับประเทศกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีก 3 ประเทศที่เหลือมียอดเงินส่งกลับประเทศราว 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประเทศที่มีอัตราเงินส่งกลับประเทศต่อ GDP มากที่สุด 5 อันดับในปี 2559 ได้แก่ คาซักสถาน (35.4%) เนปาล (29.7%) ไลบีเรีย (29.6%) เฮติ (27.8%) ตองกา (27.8%)
การเพิ่มขึ้นของรายได้จากผู้อพยพสามารถพัฒนาสวัสดิการและครอบครัวผู้อพยพได้ทั้งทางตรง เมื่อครอบครัวย้ายมาอยู่ด้วยกันที่ประเทศปลายทาง และทางอ้อมโดยผ่านการส่งเงินกลับประเทศตนเอง อีกทั้งยังส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจจากการนำเงินไปพัฒนาระบบการศึกษาและสาธารณสุข รายงานจากธนาคารโลก ระบุ ผู้อพยพจากประเทศยากจนมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากถึง 15 เท่า มีอัตราการเข้าลงทะเบียนเรียนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และมีอัตราการตายของเด็กลดลงถึง 16 เท่า ภายหลังจากที่ได้อพยพย้ายถิ่นไปอาศัยอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว
นอกจากประโยชน์ที่เกิดกับผู้อพยพและสมาชิกในครอบครัวแล้ว ยังมีหลักฐานจากงานวิจัยพบว่าการอพยพสามารถสร้างประโยชน์แก่ประเทศต้นทางที่ผู้อพยพจากมาอย่างมากมาย อาทิ สามารถลดอัตราการว่างงาน การจ้างงานไม่เต็มที่ ช่วยลดปัญหาความยากจน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายการสนับสนุนที่เหมาะสมของรัฐบาล ซึ่งช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต้นทางได้หลายแนวทาง และยังก่อให้เกิดการถ่ายทอดทักษะ ความรู้ และเทคโนโลยี ซึ่งแม้จะยากต่อการชี้วัดแต่ก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลดีต่อการเพิ่มผลผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต้นทาง
ส่วนในประเทศปลายทาง การอพยพย้ายถิ่นเป็นการเพิ่มจำนวนแรงงานเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศที่ผู้อพยพเข้าไป รวมถึงสามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงานและรายได้ต่อหัวประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อแรงงานผู้อพยพมีทักษะหรือสามารถสร้างนวัตกรรมได้มากกว่าแรงงานท้องถิ่น นอกจากนี้ การอพยพยังส่งผลดีต่อตลาดแรงงาน โดยการเพิ่มอุปทานแรงงานในสาขาอาชีพที่ยังขาดแคลนแรงงานอีกด้วย
วันแห่งการอพยพย้ายถิ่นสากล (International Migrants Day)
“การอพยพย้ายถิ่น” เป็นการเคลื่อนย้ายของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติหลากหลายภาษา ถือเป็นปรากฏการณ์อันซับซ้อนที่กระทบต่อทั้งมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทั่วทั้งโลกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ การค้า การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และถือเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ธุรกิจและชุมชนให้ได้รับประโยชน์มหาศาล
นอกจากนี้ การอพยพย้ายถิ่นยังช่วยพัฒนาชีวิตและสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้คนทั้งที่อยู่ในประเทศต้นทางและประเทศปลายทางได้ อย่างไรก็ตาม การอพยพย้ายถิ่นไม่ได้เกิดขึ้นในสถานการณ์ปกติเสมอไป ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฏการณ์อพยพย้ายถิ่นเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การขาดโอกาสและความมั่นคงในประเทศต่างๆ
ในปี 2559 มีผู้ลี้ภัยราว 22.5 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ภายใต้อาณัติของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จำนวน 17.2 ล้านคน และอีกจำนวน 5.3 ล้านคนลงทะเบียนกับสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) และอีก 40.3 ล้านคนที่ถูกบังคับให้อพยพออกจากบ้านเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้ง
ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ การอพยพย้ายถิ่นเป็นการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชนะความยากลำบากและเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบัน ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความก้าวหน้าด้านการสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง ทำให้ผู้คนสามารถอพยพย้ายถิ่นฐานได้สะดวกและง่ายขึ้น
ในปี 2543 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มจำนวนของผู้อพยพย้ายถิ่นฐานทั่วโลกที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงกำหนดให้วันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันแห่งการอพยพย้ายถิ่นสากล (International Migrants Day) เนื่องจากวันที่ 18 ธันวาคม 2533 สมัชชาแห่งสหประชาชาติได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานอพยพและสมาชิกในครอบครัว
และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 สมัชชาแห่งสหประชาชาติได้ให้สัตยาบันระหว่างการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับการลี้ภัยและอพยพครั้งใหญ่ครั้งแรก เพื่อเพิ่มการคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ เรียกชื่อว่าปฏิญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยและผู้อพยพนิวยอร์ก หรือปฏิญญานิวยอร์ก ซึ่งเป็นปฏิญญาที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกในสร้างและเพิ่มกลไกในการปกป้องผู้คนในระหว่างการอพยพย้ายถิ่น และเป็นการปูทางสู่ข้อตกลงระหว่างประเทศใหม่ของโลก 2 ฉบับ ได้แก่ ข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อผู้ลี้ภัย และข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการอพยพย้ายถิ่นที่ปลอดภัย ปี 2561
ขอขอบคุณข้อมูล
https://www.iom.int/wmr/world-migration-report-2018
http://www.un.org/en/events/migrantsday/
https://www.daysoftheyear.com/days/international-migrants-day/
https://www.awarenessdays.com/awareness-days-calendar/international-migrants-day-2018/
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS