{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน โรคเอดส์เป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แม้ว่าปัจจุบันจะมีการพัฒนาคิดค้นยารักษาโรค แต่ก็ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่นั่นก็ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป และมีอายุขัยใกล้เคียงกับคนปกติ โดยผู้ป่วยจะต้องทานยาต้านไวรัส HIV เพื่อยับยั้งไม่ให้ไวรัสตัวนี้ไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคเอดส์ได้นั่นเอง
วันเอดส์โลก เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2531 โดยองค์การอนามัยโลก(WHO) เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอันตรายจากการติดต่อของโรคเอดส์ สนับสนุนและส่งเสริมให้มีมาตรการป้องกันโรคเอดส์ รวมถึงเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมกับสนับสนุนให้เกิดการยอมรับ ไม่รังเกียจในตัวผู้ป่วย
HIV และ AIDS ต่างกันอย่างไร
HIV (Human Immunodeficiency Virus) คือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้จะแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายโดยอาศัยไปตามเม็ดเลือดขาว และจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ง่าย ถ้าไม่ได้รับการรักษาในระยะนี้ ก็จะพัฒนาไปเป็นโรคเอดส์ได้
ผู้ติดเชื้อ HIV จะมีระยะฟักตัวค่อนข้างนาน ตั้งแต่เริ่มรับเชื้อเข้ามากระทั่งเริ่มมีอาการประมาณ 3-5 ปี หรือมากกว่านั้น แต่ส่วนน้อยอาจมีระยะฟักตัวสั้นมากเพียง 6 เดือนเท่านั้น
ส่วนโรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome -AIDS) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ HIV และเชื้อได้เข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และทำให้เกิดการติดเชื้อร้ายแรงตามมา ซึ่งหากติดเชื้อ HIV แล้วไม่ได้รับการรักษา มักจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีจึงพัฒนาไปเป็นโรคเอดส์ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิต สุขภาพและจิตใจ รวมถึงภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยด้วย
สถิติผู้ติดเชื้อ HIV
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ปี 2560 มีผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับเชื้อ HIV 36.9 ล้านคนทั่วโลก เป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 1.8 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสจำนวน 21.7 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับเชื้อ HIV 940,000 คนทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี 2560 มีผู้ติดเชื้อ HIV ที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 440,000 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 5,500 คน หรือเฉลี่ยวันละ 16 คน มีผู้ได้รับการวินิจฉัยและรู้สถานะการติดเชื้อตนเองแล้วร้อยละ 98 ของผู้ติดเชื้อ HIV ทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 75 ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2573 จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ให้เหลือปีละไม่เกิน 1,000 คน และลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อ HIV เหลือปีละไม่เกิน 4,000 คน
แม้ว่าในปัจจุบันจะมียาต้านเชื้อไวรัส HIV ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงยาป้องกันที่ชื่อว่า เพร็ป (Prep) หรือยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-exposure prophylaxis) และยาเป็ป (Pep) ซึ่งเป็นยาป้องกันหลังการสัมผัสเชื้อ (Post-exposure prophylaxis) ซึ่งเหมาะสำหรับกลุ่มคนที่มีภาวะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ เช่น ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยาต้านไวรัสเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV ทางที่ดีควรป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นวิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูล
https://www.honestdocs.co/signs-of-hiv-or-aids
http://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/hiv-aids
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS