ย้อนรอย…”โรคซาร์ส” ระบาด

16 พฤศจิกายนเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ได้พบการระบาดครั้งแรกของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (โรคซาร์ส) ในมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

SARS ย่อมาจาก Severe Acute Respiratory Distress Syndrome หรือ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ SARS coronavirus

เดือนพฤศจิกายน ปี 2545 พบผู้ป่วยโรคซาร์สคนแรก เป็นชาวนาอยู่ที่มณฑลกวางตุ้งของจีน ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการป่วยคล้ายโรคปอดบวมติดเชื้อและเสียชีวิต แต่รัฐบาลจีนไม่ได้ตระหนักว่าเป็นโรคร้ายจึงไม่ได้รายงานไปยังองค์การอนามัยโลก

องค์การอนามัยโรคได้รับรายงานการระบาดของโรคนี้จากแพทย์ชาวอิตาเลียนชื่อ Carlo Urbani ซึ่งทำงานที่ The French Hospital of Hanoi ประเทศเวียดนาม เหตุเริ่มเกิดในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 นักธุรกิจชาวอเมริกันคนหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากจีน มีอาการคล้ายโรคปอดบวมติดเชื้อจึงได้เข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ และต่อมาเสียชีวิต หลังจากนั้นบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยรายนี้ก็มีอาการลักษณะเดียวกันกับผู้ป่วยและเสียชีวิต เช่นเดียวกับนายแพทย์ชาวอิตาเลียนที่ตระหนักถึงความอันตรายของโรคซาร์สและเป็นผู้รายงานไปยังองค์การอนามัยโลกก็มีอาการป่วย และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

การแพร่ระบาดรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง เมื่อแพทย์คนหนึ่งซึ่งติดเชื้อโรคซาร์สได้เดินทางจากมณฑลกวางตุ้งมาพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในฮ่องกง และแพร่เชื้อสู่แขกคนอื่นๆ ที่พักในโรงแรมเดียวกัน จากนั้นแขกในโรงแรมที่ติดเชื้อก็ได้เดินทางต่อไปยังไประเทศต่างๆ จนเกิดการแพร่ระบาดของโรคนี้ไปใน 30 ประเทศทั่วโลก อาทิ เวียดนาม สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง แคนาดา เป็นต้น

หลังจากนั้น องค์กรอนามัยโรคได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด จนในที่สุดก็ได้ประกาศสิ้นสุดการระบาดของโรคซาร์สในอีก 5 เดือนถัดมา คือ ในเดือนกรกฎาคม 2546 รวมแล้วมีผู้ป่วยโรคซาร์สทั่วโลกกว่า 8,000 คน จาก 26 ประเทศ เป็นคนจีนราว 5,000 คน รองลงมาคือ คนฮ่องกง ไต้หวัน แคนาดา เวียดนาม สิงคโปร์ และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ราว 800 คน

แหล่งที่มาของเชื้อโรคซาร์ส นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ในอุ้งเท้าของชะมด จากการตรวจตลาดค้าสัตว์ป่าในมณฑลกวางตุ้งของจีน ต่อมาค้นพบเชื้อตัวเดียวกันนี้ในแรคคูน แบดเจอร์ และค้างคาว สันนิษฐานว่าเป็นเชื้อที่มีอยู่ในสัตว์มานานแล้ว แต่เพิ่งจะพัฒนาสู่คนเป็นครั้งแรกจนเกิดโรคนี้ขึ้น

ไวรัสโรคซาร์สแพร่กระจายเหมือนโรคหวัด ในการสัมผัสระยะใกล้ชิด เช่น มีการสัมผัสมือหรือสิ่งปนเปื้อนละอองเสมหะ น้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ป่วย สนทนาหรืออยู่ใกล้ชิดระยะไม่เกิน 1 เมตร สัมผัสตัวหรือรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วย

อาการของโรคเมื่อแรกเริ่ม ผู้ป่วยจะมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส และอาจมีอาการหนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย คล้ายอาการของไข้หวัดใหญ่ บางรายอาจคลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอ หรือถ่ายอุจจาระเหลวร่วมด้วย หลังจากมีไข้ 1 สัปดาห์ผู้ป่วยจะไอแห้งๆ เหนื่อยง่าย หายใจหอบหรือหายใจลำบากจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ บางรายรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบ โดยอาการรุนแรงของโรคจะเกิดในสัปดาห์ที่ 2 ส่วนมากอาการปอดอักเสบจะค่อยๆหายไปเองในสัปดาห์ที่ 3 ผู้ป่วยที่เป็นเล็กน้อยจะมีไข้อยู่ราว 4-7 วันก็หาย แต่บางรายที่เป็นหนักก็อาจมีอาการแทรกซ้อน อาทิ ภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลันซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้ป่วย

การลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัส สามารถทำได้โดยการล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เป็นประจำ สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านหรือบริเวณที่มีโรคระบาด และหากต้องดูแลผู้ป่วยให้ป้องกันโดยการสวมหน้ากากอนามัยและสวมถุงมือยางขณะทำความสะอาดของใช้หรือเมื่อต้องสัมผัสกับผู้ป่วย ที่สำคัญคือการดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรง จะได้มีภูมิต้านทานโรคที่ดี

ขอขอบคุณข้อมูล

https://medthai.com/โรคซาร์ส/

http://haamor.com/th/ซาร์ส/


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment