{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
กรุงเนปิดอว์ (Naypyidaw) เมืองหลวงใหม่ของเมียนมา (Myanmar) เพิ่งครบรอบการย้ายเมืองหลวง 13 ปีไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้
แต่เดิมนั้นเมืองหลวงของเมียนมา คือ เมืองยันโกน (Yangon) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ ย่างกุ้ง แต่เมืองหลวงได้ถูกย้ายมาที่กรุงเนปิดอว์เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2548 หลังจากที่พลเอก ตานฉ่วย อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ได้สั่งให้สร้างเมืองหลวงใหม่อย่างเงียบๆ ตั้งแต่ปี 2545 และมีการเฉลิมฉลองการย้ายเมืองหลวงใหม่เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2549
กรุงเนปิดอว์ ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของประเทศ อยู่ระหว่างกรุงย่างกุ้งกับเมืองมัณฑะเลย์ โดยห่างจากกรุงย่างกุ้งไปทางทิศเหนือประมาณ 350 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 7,000 ตารางกิโลเมตร (มีพื้นที่มากกว่า 4 เท่าของกรุงเทพมหานคร หรือใหญ่กว่าเกาะสิงคโปร์ 10 เท่า) มีถนนถึง 10 เลน พื้นที่โอบล้อมด้วยภูเขา ตั้งอยู่ในเขตเมืองเปียนมะนา (Pyinmana) ทางตอนกลางของประเทศ ใช้เวลาเดินทางจากกรุงย่างกุ้งโดยรถยนต์ประมาณ 7 ชั่วโมง
ความหมายของ “เนปิดอว์” ในภาษาเมียนมามีความหมายตรงตัวว่า ราชธานีหรือที่อยู่ของกษัตริย์ แต่ถ้าแปลตามคำ อาทิ คำว่า “เน” หมายถึง พระอาทิตย์ คำว่า “ปิ” หมายถึง เมือง ส่วนคำว่า “ดอว์” หมายถึง ความยิ่งใหญ่
ผังเมืองของกรุงเนปิดอว์จะถูกแบ่งเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ โซนราชการ (Ministry Zone) โซนโรงแรม (Hotel Zone) โซนอุตสาหกรรม (Industry Zone) และโซนทหาร (Military Zone) ประชากรที่อาศัยอยู่ที่นั่นส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการ
การสร้างเมืองหลวงใหม่แห่งนี้ รัฐบาลเมียนมากู้เงินจากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2541 โดยเริ่มที่เอ็กซิมแบงก์ของจีน 160 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.16 พันล้านบาท) และเอ็กซิมแบงก์ของไทย 106.45 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4 พันล้านบาท) รวมถึงสถาบันการเงินอีกหลายแห่งของประเทศเพื่อนบ้าน
ทำไมเมียนมาถึงย้ายเมืองหลวง
สาเหตุที่เมียนมาย้ายเมืองหลวงนั้น มีนักวิชากรหลายท่านวิเคราะห์ไว้หลายประเด็น อาทิ ความเชื่อของนายพล ตานฉ่วย ตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือ เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีใครทราบว่าแท้จริงแล้วเมียนมาย้ายเมืองหลวงเพราะอะไร แต่มีอยู่ 2 สาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้คือ เหตุผลทางโหราศาสตร์และเหตุด้านความมั่นคง
เหตุผลทางโหราศาสตร์ หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์จะเห็นว่าพม่ามีการย้ายเมืองหลวงอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากพระมหากษัตริย์ของพม่าจะมีความเชื่อในคำทำนายต่างๆ หากคำทำนายเป็นอาเพศ ก็จะต้องแก้เคล็ดด้วยวิธีต่างๆ อย่างเช่นการย้ายเมืองหลวง รวมถึงพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็งก็จะสร้างเมืองของตัวเองเป็นราชธานี แต่ถ้าลูกหลานไม่เก่ง กษัตริย์เมืองอื่นก็จะไปตั้งราชธานีใหม่ วนแบบนี้ไปเรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่พม่ามีเมืองหลวงหลายแห่ง
จนกระทั่งพม่ารบแพ้อังกฤษและตกเป็นอาณานิคม อังกฤษจึงสถาปนากรุงย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงและใช้เรื่อยมาจนได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม 2491 ซึ่งทางเมียนมาถือว่า แม้กรุงย่างกุ้งจะเคยเป็นราชธานีมาก่อน แต่ไม่ได้เป็นราชธานีที่ผู้ปกครองเมียนมาสถาปนาขึ้นมา เป็นราชธานีที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษสถาปนาขึ้นมาภายหลัง
ส่วนประเด็นด้านความมั่นคง หากดูจากภูมิศาสตร์ของเนปิดอว์นั้นถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีมาก เนื่องจากตั้งอยู่ตรงใจกลางของประเทศและเป็นเส้นทางคมนาคมหลักที่เชื่อมกรุงย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ล้อมรอบไปด้วยภูเขา ซึ่งสามารถช่วยลดปัญหาการถูกจับสัญญาณจากฝ่ายตรงข้ามและทำให้ยากต่อการถูกโจมตีจากชนกลุ่มน้อยและศัตรูของรัฐบาล รวมถึงเป็นจุดที่สามารถตั้งรับกับชนกลุ่มน้อย เช่น ฉาน ฉิ่น และกะเหรี่ยง จากทั้งทิศเหนือ ใต้ ออก และตก ได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าเมืองหลวงจะถูกย้ายมาที่เนปิดอว์แล้ว แต่คนเมียนมาก็ยังอยู่ทำงาน ทำธุรกิจกันที่กรุงย่างกุ้ง ทำให้เนปิดอว์เงียบเหงาทั้งกลางวันและกลางคืน และที่ เนปิดอว์ต่างจากกรุงย่างกุ้งตรงที่สามารถขับมอเตอร์ไซค์ได้ รัฐบาลไม่ได้ออกกฎหมายห้ามใช้มอเตอร์ไซค์เหมือนในย่างกุ้ง
ขอขอบคุณข้อมูล
http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/content/article/2005/12/27/AR2005122701248.html
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS