IRPCขาดทุนQ1/2563ร่วม9พันล้าน

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562 บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 3,665 ล้านบาท (6.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงอย่างมาก จาก 67.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงต้นไตรมาสลดลงมาอยู่ที่ 23.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงสิ้นไตรมาสเป็นผลจากสภาวะอุปทานล้นตลาด เนื่องจากกลุ่มโอเปกและพันธมิตรไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต ประกอบกับการหยุดทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ของทุกประเทศ ทำให้บริษัทมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม 6,811 ล้านบาท หรือ 12.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัท มีผลขาดทุนขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 3,146 ล้านบาท หรือ 5.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เทียบกับไตรมาสก่อนที่มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชีจำนวน 4,341 ล้านบาท ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2563 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 8,905 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนมีผลขาดทุนสุทธิ 513 ล้านบาท

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่ายังทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องจากสิ้นไตรมาส 1 จะเป็นปัจจัยบวกส่งผลให้ต้นทุนทางการผลิตลดลง จากการได้รับประโยชน์จากราคาประกาศของ Saudi Aramco ที่มีส่วนลด (discount) ประมาณ 7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งในปัจจุบันสัดส่วนน้ำมันดิบที่ IRPC สั่งซื้อมาจาก Saudi Aramco มีประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณการสั่งซื้อน้ำมันดิบทั้งหมด

ซึ่งบริษัทได้มีการการบริหารต้นทุน และประสิทธิภาพการผลิตอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไออาร์พีซี กล่าวอีกว่า บริษัทได้จัดตั้งคณะทำงาน Crisis Management และ Planning Ahead โดยคณะทำงาน Crisis Management จะติดตามสถานการณ์ธุรกิจ พร้อมกำหนดนโยบายและตัดสินใจดำเนินการได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ โดยทำงานคู่ขนานกับคณะทำงาน Planning Ahead ที่บริหารจัดการฟื้นฟูธุรกิจหลังภาวะวิกฤต และมองหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่รองรับเทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในอนาคต

สำหรับภารกิจสำคัญเพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 บริษัทฯ ได้มีการพัฒนาต่อยอดชุด PPE อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) ผลิตจากผ้าสปันบอนด์ (Polypropylene spunbond) ที่สามารถป้องกันสารคัดหลั่งและเลือดไม่ให้ซึมผ่าน ด้วยต้นทุนในการผลิตถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึงร้อยละ 60 รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมพลาสติกคลุมเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ โดยใช้วัตถุดิบผ้ากระสอบพลาสติกผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีนเกรดพิเศษ ที่มีคุณสมบัติเหนียว แข็งแรงทนทานสูง ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศถึงเกือบ 3 เท่าตัว จากความสำเร็จต่างๆ ดังกล่าว นำไปสู่ความร่วมมือในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในการสร้างห้องปฏิบัติการตรวจสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการแพทย์ เพื่อยกระดับการสร้างองค์ความรู้ และการวิจัยภายในประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศทดแทนการนำเข้า


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment