{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 1 กรกฎาคม 2568 ที่ระดับ 32.41 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.49 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down ทดสอบโซนแนวรับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.41-32.56 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าเงินบาทจะมีจังหวะอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 32.60 บาทต่อดอลลาร์ ทว่า เงินบาทก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเพิ่มความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด (ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดให้โอกาสราว 66% ที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ในปีนี้) ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดยังได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง และการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์ รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็หนุนให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวสูงขึ้น ทะลุโซน 3,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งราคาทองคำก็ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับ บรรดาประเทศคู่ค้า หลังใกล้ถึงช่วงครบกำหนดการพักมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs)
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึง การประกาศยกเลิกเก็บยภาษีบริการดิจิตอลของแคนาดาจากบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ของสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.52%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลง -0.42% ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดในช่วงปิดไตรมาสที่ 2 ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตาแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า หลังใกล้ถึงวันครบกำหนดพักมาตรการเรียเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs)
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดการเงินสหรัฐฯ จะยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ทยอยเพิ่มความคาดหวังต่อแนวโน้มการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟด ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.23% ทั้งนี้ เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวลดลงมาพอควร และอยู่ในโซนที่ยังไม่น่าสนใจทยอยเข้าซื้อ (อาจเริ่มน่าสนใจในการทยอยขายทำกำไรบ้าง หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อ สำหรับผู้ที่มีสถานะลงทุนในบอนด์ระยะยาว ตั้งแต่ในช่วง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สูงกว่าระดับ 4.50%) ซึ่งเราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หรือ บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ เพื่อ Risk-Reward ที่น่าสนใจกว่า (โซน 4.50% หรือสูงกว่านั้น อาจไม่ได้เห็นได้ง่ายนัก หากไม่มีความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ เข้ามากดดันตลาดบอนด์ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องออกมาดีกว่าคาดชัดเจน)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยเพิ่มความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่กลับมาแข็งค่าทะลุโซน 144 เยนต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังมีความหวังต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 96.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 96.6-97.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และความต้องการถือทองคำ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับ บรรดาประเทศคู่ค้า ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) ปรับตัวสูงขึ้น สู่โซน 3,320-3,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนมิถุนายน และยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings) เดือนพฤษภาคม พร้อมรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในงานสัมนาของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่เมือง Sintra ประเทศโปรตุเกส
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน พร้อมรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในงานสัมนาของธนาคารกลางยุโรป (ECB Forum) ที่เมือง Sintra ประเทศโปรตุเกส ด้วยเช่นกัน
ทางฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตของจีน ในเดือนมิถุนายน ที่จะช่วยสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมของบรรดาบริษัทขนาดเล็ก-กลางของจีน ท่ามกลางปัจจัยกดดันในช่วงที่ผ่านมา อย่าง นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม แนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ส่วนในฝั่งไทย ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะรับคำร้อง “ถอดถอนนายกรัฐมนตรี” ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา ถือว่ามากกว่าที่เราประเมินไว้บ้าง แต่ไม่เหนือความคาดหมายนัก โดยนับตั้งแต่ช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เงินบาทได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่า ตามการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำอย่างชัดเจน ก่อนที่จะได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นต่อของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจชะลอลงได้บ้าง แถวโซนแนวรับ 32.30-32.40 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้อง “ถอดถอนนายกฯ” หรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนของการเมืองไทย และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยได้
โดยเราประเมินว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้รับคำร้องดังกล่าว แม้จะส่งผลดีต่อสถานการณ์การเมืองไทย ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจมองว่า ความไม่แน่นอนของการเมืองไทยที่ลดลง อาจทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่จำเป็นต้องเดินหน้าลดดอกเบี้ยมาก ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ธปท. อาจลดดอกเบี้ยได้ถึงระดับ 1.00%-1.25% ภายใน 12 เดือน ข้างหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อย่าง ฝั่งนักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรสถานะลงทุนในบอนด์ระยะยาวไทยออกมาบ้างได้ แต่แรงขายก็อาจไม่มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตาท่าทีของทางการสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มนโยบายการค้า ทำให้เรามองว่า ในกรณีนี้ เงินบาทก็อาจไม่ได้รับอานิสงส์ฝั่งแข็งค่ามากนัก และยังมีความเสี่ยงอ่อนค่าลงบ้าง ขึ้นกับแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ
ในทางกลับกัน หากศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องถอดถอนนายกฯ พร้อมให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เรามองว่า ความไม่แน่นอนของการเมืองไทยที่สูงขึ้น อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกลดสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) และลดการถือครองหุ้นไทยลง ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอลงด้วยแรงซื้อบอนด์จากฝั่งนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากในกรณีดังกล่าวอาจทำให้ นักลงทุนต่างชาติมั่นใจมากขึ้นว่า ธปท. อาจลดดอกเบี้ยต่อได้ถึง 1.00% และมองว่าบอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทยยังมีโอกาสปรับตัวลดลงต่อได้
ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของการเมืองไทย แต่เราคงมุมมองเดิมว่า ปัจจัยภายนอก Global Factors ทั้งทิศทางเงินดอลลาร์และราคาทองคำ ยังมีผลกับเงินบาทอยู่มาก และมากกว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดูแย่ลง ทำให้ แนวโน้มของเงินบาทในระยะข้างหน้าจะขึ้นกับปัจจัยภายนอก ซึ่งหากเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ก็อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะเห็นเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ชัดเจน แม้จะเผชิญปัจจัยกดดันจากปัญหาการเมืองในประเทศก็ตาม
อนึ่ง เรามองว่า ในระยะสั้น เงินดอลลาร์มีโอกาสรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยเราขอแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักตั้งแต่ช่วง 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย
เรายังคงมีความกังวลเดิม คือ ความผันผวนของเงินบาทที่อาจกลับมาสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์หน้าที่ ตลาดการเงินไทยอาจเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ Options เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.30-32.60 บาท/ดอลลาร์
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS