SMPC เผยไตรมาส 1/68 กำไรกว่า 145 ล้าน ส่งซิกแนวโน้ม Q2 โตตามเป้า

SMPC ประเมินแนวโน้มผลงาน Q2/68 เติบโตดีกว่าไตรมาสที่มียอดขายรวมอยู่ที่ 1,026.51 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 145.45 ล้านบาท เดินหน้าชูกลยุทธ์เน้นเพิ่มการขายผลิตภัณฑ์ High Value เพิ่มมาร์จิ้น ลุยขยายตลาดในภูมิภาคที่หลากหลายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นางปัทมา เล้าวงษ์ รองประธานกรรมการ บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) หรือ SMPC เปิดเผยว่าแนวโน้มธุรกิจในช่วงไตรมาส 2/2568 คาดว่ามีการเติบโตดีกว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลคำสั่งซื้อในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม มีคำสั่งซื้อไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประเมินว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ สนับสนุนภาพรวมผลงานครึ่งปีแรกของปี 2568 มีการเติบโตที่ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และเชื่อว่าปริมาณขายทั้งปีนี้จะทำได้ 7.7 ล้านใบ หรือเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน

ล่าสุดประกาศผลประกอบการของบริษัทฯ งวดไตรมาส 1 ปี 2568 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 145.45 ล้านบาท ลดลง 8.84 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 154.29 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายลดลง อัตราการทำกำไรใกล้เคียงเดิม มียอดขายรวมอยู่ที่ 1,026.51 ล้านบาท ลดลง 117.12 ล้านบาท หรือ 10.2% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขาย 1,143.63 ล้านบาท เป็นผลจากปริมาณขายที่ลดลง 3.9% จากการชะลอตัวของลูกค้าในแถบแอฟริกาและเอเชีย ผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ประกอบกับราคาเหล็กลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 12% และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 5% ทำให้ราคาขายลดลง

“ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว และความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าและนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา SMPC ยังคงรักษาความแข็งแกร่งทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง จากการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมั่นคง แม้ว่าจะต้องเผชิญความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศจากนโยบายด้านภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมในอัตรา 25% ตั้งแต่เดือนก.พ.2568 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกประเทศที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มาตรการภาษีนี้มีผลกระทบต่อผู้นำเข้าสินค้าในสหรัฐฯ โดยตรง แต่เนื่องจากความต้องการสินค้าจากลูกค้าในสหรัฐฯ ยังคงมีสม่ำเสมอเพื่อทดแทนถังเดิมที่เสื่อมสภาพ ประกอบกับต้นทุนผลิตภายในประเทศสูง จึงส่งผลให้บริษัทยังคงรักษาคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯได้อย่างต่อเนื่อง ” นางปัทมา กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯได้ดำเนินนโยบายขยายส่วนแบ่งทางการตลาดไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของประเทศคู่ค้ารายใหญ่ และกระจายฐานลูกค้าในแต่ละภูมิภาคที่มีความต้องการสินค้าในช่วงเวลาที่ต่างกัน และเพื่อป้องกันกรณีหากพื้นที่ขายใดมีปัญหา ก็จะมียอดขายจากพื้นที่อื่นมาชดเชย ทำให้รายได้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ราคาต้นทุนวัตถุดิบซึ่งเป็นเหล็กมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดีขึ้น รวมทั้งอัตราค่าระวางเรือในไตรมาสแรกของปีนี้ ก็ปรับลงเช่นกัน จากความไม่แน่นอนของนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน ในด้านการจัดการความเสี่ยงบริษัทได้มีการปรับนโยบายการขายบางส่วน โดยเน้นเสนอขายสินค้าแบบไม่รวมค่าขนส่ง และเสนอค่าขนส่งภายหลังเมื่อใกล้ถึงกำหนดส่งมอบ เพื่อลดความผันผวนจากต้นทุนค่าระวางเรือที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าใช้กลยุทธ์การเติบโตจากโครงสร้างรายได้ส่งออกที่แข็งแกร่งกว่า 90% พร้อมแนวทางบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Natural Hedge และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพิ่มเติม นอกจากนี้ราคาวัตถุดิบเหล็กที่ลดลงช่วยลดต้นทุนและเพิ่มกำไร ขณะเดียวกันบริษัทเฝ้าระวังต้นทุนค่าขนส่งที่อาจเพิ่มขึ้น และปรับกลยุทธ์ขายแบบ FOB เพื่อรองรับความผันผวน รวมถึงติดตามนโยบายการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง พร้อมแนวทางการรับมือเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment