ค่าเงินบาทเปิดเช้า 16 พฤษภาคม 2568 ที่ระดับ 33.17 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า16 พฤษภาคม 2568 ที่ระดับ 33.17 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.32 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 33.17-33.38 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการรีบาวด์สูงขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งแรงซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาด อีกทั้งความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก็มีส่วนช่วยหนุนความต้องการถือทองคำในช่วงนี้ นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้แรงส่งเพิ่มเติมจากจังหวะย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ออกมาผสมผสาน (ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขานิวยอร์ก ออกมาต่ำกว่าคาด ส่วนยอดค้าปลีกและยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานดีกว่าคาดเล็กน้อย) โดยภาพดังกล่าวทำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยเพิ่มโอกาสเฟดสามารถลดดอกเบี้ยในปีนี้ได้ราว 3 ครั้ง เป็น 25% จากราว 0% ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Healthcare ที่เผชิญแรงเทขายหนัก อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ถูกกดดันบ้างจากแรงขายทำกำไรหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Amazon -2.4% (Amazon มีประเด็นเพิ่มเติมจากความกังวลผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ) ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลง -0.18% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.41%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์สูงขึ้น +0.56% แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ทว่าความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้หนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมทหารและการบินของยุโรปปรับตัวขึ้นได้ดี นำโดย Rheinmetall +5.7%, BAE System +3.2% นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาสดใส ก็มีส่วนหนุนตลาดหุ้นยุโรปเช่นกัน

ในส่วนตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสเฟดสามารถลดดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง ในปีนี้ เป็น 25% ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 4.42% โดยเราคงคำแนะนำเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในระดับปัจจุบันถือว่ามีความน่าสนใจอยู่ และคงแนะนำว่า ควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ ได้ (เน้น Buy on Dip) โดยเฉพาะในช่วงโซนสูงกว่า 4.50% หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวขึ้นทดสอบโซนดังกล่าวอีกครั้ง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันบ้างจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ซึ่งกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง ทว่า เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 100.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.6-100.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แรงซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาด กอปรกับจังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงความต้องการถือทองคำ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) สามารถรีบาวด์สูงขึ้นต่อเนื่องกว่า +2% สู่ระดับ 3,244 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) พร้อมรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาว (Inflation Expectations) ในรายงานเดียวกัน โดยในช่วงที่ผ่านมา ตลาดการเงินมีความอ่อนไหวกับข้อมูล Soft Data หรือ Survey-Based Data อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคฯ พอสมควร

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะติดตามการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนับตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อนหน้านั้น ไม่ได้เหนือความคาดหมายมากนัก หลังราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นจากโซนแนวรับในระยะสั้นได้ อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า ราคาทองคำถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทเสี่ยงเคลื่อนไหวลักษณะ Two-Way ขึ้นกับแนวโน้มราคาทองคำ โดยล่าสุด การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานข้อมูล Soft Data จากฝั่งสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน รวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยในกรณีที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคฯ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มเติม ซึ่งจะสะท้อนผ่านการปรับเพิ่มโอกาสเฟดสามารถลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง ในปีนี้ ได้ โดยอาจเห็นการย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่อาจหนุนการปรับตัวขึ้นต่อของราคาทองคำ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก็อาจยังพอช่วยหนุนราคาทองคำในระยะสั้นได้ แต่หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งพัฒนาของการเจรจาสันติภาพมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็อาจกดดันให้ราคาทองคำยังอยู่ในช่วงการพักฐานและเสี่ยงย่อตัวลงต่อได้กลับไปทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นอีกครั้ง ได้ไม่ยาก

และนอกเหนือจากการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันบ้าง จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติ รวมถึงแรงซื้อเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาดบางส่วน ทำให้การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจติดอยู่แถวโซนแนวรับหลัก 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ยังไม่สามารถอ่อนค่าลงชัดเจน จนทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่าย จนกว่าจะเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน รวมถึงตลาดไร้ปัจจัยเสี่ยง พร้อมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ซึ่งภาพดังกล่าวควรจะเห็นการปรับตัวลดลงต่อของราคาทองคำด้วยเช่นกัน

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.30 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment