เงินเฟ้อเดือน เม.ย. 2568 ลดลงครั้งแรกในรอบ 13 เดือนที่ -0.22%YoY คาดทั้งปี 2568 อยู่ที่ 0.5%

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนเม.ย. 2568 ลดลงครั้งแรกในรอบ 13 เดือนที่ -0.22%YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.98%YoY เนื่องจาก (รูปที่ 1)

• ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ค่าไฟฟ้าปรับลดลงจากปีก่อนหน้า 0.03 บาทต่อหน่วย รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบางไปจนถึงเดือนเม.ย.2568

• ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง อาทิ ไข่ไก่ มะนาว และผักชี จากฐานในปี 2567 ที่อยู่ในระดับสูงจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร

• อย่างไรก็ดี แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ แต่กว่า 58% ของ รายการสินค้าทั้งหมดที่นำมาคำนวณยังปรับเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสุกร ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น ซึ่งสะท้อนว่าไทยยังไม่เผชิญกับภาวะเงินฝืด

เมื่อมองไปยังไตรมาสที่ 2/2568 อัตราเงินเฟ้อไทยมีโอกาสเผชิญการติดลบ แต่ยังไม่ถือได้ว่าเข้าสู่สภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาสินค้าและบริการยังไม่ปรับลดลงอย่างเป็นวงกว้าง (Broad-based) และราคาที่ปรับลดลงส่วนใหญ่มาจากฝั่งอุปทาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก โดยมีรายละเอียดดังนี้

• มาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพของภาครัฐ โดยค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค. 2568 ลดลงจากปีก่อนหน้า 0.20 บาทต่อหน่วย ราคาน้ำมันดีเซลอาจทยอยปรับลดลง ขณะที่ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์อาจปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ถูกกดดันจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ และอุปทานที่เพิ่มขึ้น

• ราคาสินค้าสินค้าเกษตรปรับลดลง โดยราคาสินค้าเกษตรอาจปรับลดลงจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยกับการเพาะปลูกมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า เช่น ราคาผักสด ไข่ไก่

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 อัตราเงินเฟ้อไทยอาจกลับมาอยู่ระดับเป็นบวกเล็กน้อยจากฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในปี 2567 ที่ต่ำ และทั้งปี 2568 คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ที่ 0.5%

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ อาจกระทบภาพรวมเศรษฐกิจผ่านภาคธุรกิจและการจ้างงาน กดดันอุปสงค์ในประเทศให้ชะลอลงอีก รวมถึงยังต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจจะมีผลต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

รูปที่ 1: เงินเฟ้อไทยเดือนเม.ย. 2568 ลดลงจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ CEIC และศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ปริชญา ฤทธิ์สุข

เจ้าหน้าที่วิจัย

palitchaya.r@kasikornresearch.com


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment