รง.สมุนไพรได้มาตรฐาน GMP PIC/s 56 แห่ง รองรับความต้องการเพียงพอ มุ่งก้าวสู่การเป็น Hub สมุนไพรแห่งอาเซียน

กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร สภาอุตสาหกรรม ผนึกสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร สนับสนุนรัฐบาลผลักดันยาสมุนไพรไทยสู่ระบบบริหารสุขภาพ เปิดข้อมูลการผลิตสมุนไพรไทยปัจจุบันด้วยโรงงานมาตรฐานสากล GMP PIC/s 56 แห่ง มั่นใจมีปริมาณเพียงพอรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ผลักดันสมุนไพรไทยสู่อาเซียน ลดการนำเข้าจากปัจจุบันสูงถึง 90% ช่วยเพิ่มการส่งออก และสร้างความมั่นคงทางยารักษาโรคในไทย โดยเฉพาะในภาวะวิกฤต เช่น ช่วง โควิด -19 ประเทศไทยไม่สามารถผลิตยาได้เองจนเกิดผลกระทบในวงกว้าง

นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร ในสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท. กลุ่มสมุนไพร) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ภาครัฐสนับสนุนให้ยาสมุนไพรเข้าไปอยู่ในระบบบริการสุขภาพ เพื่อเป็นทางเลือกในการจ่ายยาสำหรับโรคพื้นฐานที่ไม่ใช่โรคร้ายแรงโดยไม่ได้ออกเป็นข้อบังคับนั้น ส.อ.ท. กลุ่มสมุนไพรมองว่าเป็นนโยบายที่มีข้อดีหลายด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และด้านสาธารณะสุข โดยในด้านเศรษฐกิจนั้น จะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ดีขึ้น จากข้อมูลปีงบประมาณ 2567 พบว่าการใช้ยาแผนปัจจุบันในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 70,543 ล้านบาท โดยจำนวนนี้มีมูลค่ายาสมุนไพรเพียง 1,560 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.21% และยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนำเข้าจากต่างประเทศ 90% ซึ่ง ส.อ.ท. กลุ่มสมุนไพรมีเป้าหมายต้องการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้ยาสมุนไพรขึ้นไปอยู่ที่ 10% ด้วยการเข้มงวดมาตรฐานการผลิต สนับสนุนให้มีโรงงานผลิตยาสมุนไพรไทยที่ได้มาตรฐาน GMP PIC/s ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP PIC/s แล้วจำนวน 56 แห่ง จึงสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้ยาได้ว่ายาที่นำเข้าสู่ระบบเป็นยาที่ได้มาตรฐานระดับสากล และมีปริมาณเพียงพอต่อการใช้งานประมาณมากอย่างแน่นอน

นอกจากนี้การนำยาสมุนไพรไทยเข้าไปใช้ในระบบบริการสุขภาพอย่างแพร่หลายมากขึ้นนั้นเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับต่างชาติในการยอมรับยาสมุนไพรไทยมากขึ้น ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกยาสมุนไพรได้มากขึ้น และมองว่าการเริ่มต้นครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ไทยสามารถก้าวเข้าสู่ Hub ด้านสมุนไพรของอาเซียนได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของข้อดีด้านสาธารณะสุขจากนโยบายนี้ยังช่วยให้คนไทยมีทางเลือกในการเข้าถึงยาที่มีราคาถูกลง รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นคงด้านยารักษาโรคให้ประเทศชาติโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤต เช่น ที่ผ่านมาในช่วงการระบาดของโรคโควิด – 19 ประเทศไทยที่ไม่มีวัคซีนและยาของตัวเองก็ทำให้เกิดปัญหา รวมถึงเหตุการณ์ที่คลองสุเอชไม่สามารถขนส่งสินค้าได้เนื่องจากมีเรือขนาดใหญ่ติดอยู่ก็ทำให้ประเทศไทยเกิดวิกฤตด้านยารักษาโรคเช่นกัน ดังนั้นการผลักดันนโยบายการใช้สมุนไพรเป็นอีกหนึ่งวิธีในการพัฒนาสมุนไพรไทย เนื่องจากหากมีการใช้อย่างแพร่หลายผู้ผลิตก็จะมีกำลังในการวิจัยและพัฒนาให้เกิดยาที่หลากหลายขึ้นจากปัจจุบันที่ยังจำกัดอยู่ที่ยารักษาโรคพื้นฐานเท่านั้น

นายศรัณย์ แจ้วจิรา นายกสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร กล่าวว่า ยาสมุนไพรไทยมีประวัติการใช้อย่างยาวนาน ปัจจุบันมีงานวิจัยรองรับ มีกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบัน มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกัน และมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทั้งยังมีการผลิตที่ทันสมัยและมีมาตรฐานการผลิตที่ยอมรับในระดับสากล GMP PIC/s อย่างไรก็ตามการนำยาสมุนไพรเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพไม่ใช่เรื่องใหม่เนื่องจากมีการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2542

มียาสมุนไพรที่ผ่านการยอมรับ เข้าสู่ยาบัญชียาหลัก ยาสมุนไพรแห่งชาติ 116 รายการ แบ่งเป็นกลุ่มอาการของโรค 15 กลุ่มอาการ และกลุ่มอาการของโรคส่วนมากก็จะเป็นกลุ่มอาการโรคพื้นฐาน เช่น แก้ไข้ แก้ไอ แก้หวัด หรือ แก้ท้องผูก ริดสีดวง แก้อาหารไม่ย่อย หรือโรคกระเพาะ และอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ กลุ่มอาการของโรคที่รุนแรง

ปัจจุบันภาครัฐออกนโยบายส่งเสริมการใช้สมุนไพรมากขึ้น โดยเฉพาะการระบุให้ยาแผนปัจจุบัน 5 รายการ ที่จ่ายเป็นยาสมุนไพรได้ ได้แก่ อาการปวดเมื่อย ใช้ครีมไพลทดแทนกลุ่มยาทาภายนอกลดปวด เช่น diclofenac, อาการไอ ใช้ยามะแว้งหรือยามะขามป้อมทดแทน diphenhydramine หรือ codeine, อาการท้องอืด ใช้ขมิ้นชันทดแทน simethicone, อาการท้องผูก ใช้มะขามแขกทดแทน bisacodyl และอาการริดสีดวงทวาร ใช้เพชรสังฆาตทดแทน diosmin 450 mg ร่วมกับ hesperidin 50 mg ทั้งนี้สมุนไพรเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่ามีประสิทธิภาพเทียบเคียงได้เนื่องจากยาแผนปัจจุบันหลายตัวที่กล่าวมาก็มีส่วนผสมมาจากสมุนไพรอยู่แล้ว อย่างไรก็ดียังต้องมีกระบวนการถ่ายทอดข้อมูล แก่ บุคลากร แพทย์ เภสัชกร และบุคลากรสาธารณสุข ให้เกิดความรู้ความเข้าใจสมุนไพรมากขึ้น โดยเฉพาะควรให้ทราบถึงผลงานวิจัยของยาสมุนไพรแต่ละชนิดที่ผ่านกระบวนการวิจัยแลพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ มีบรรจุภัณฑ์ มีขนาดบ่งใช้กำหนดที่ได้มาตรฐาน ซึ่งแตกต่างจากสมัยโบราณที่ยังไม่ผ่านงานวิจัยและมีขนาดการใช้ไม่แน่นอนทำให้ยากต่อการรักษาโรค


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment