แนวโน้มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ปี 2568

เซมิคอนดักเตอร์มีแนวโน้มที่จะมียอดขายเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญในปี 2568 โดยมีปัจจัยหลักมาจากชิป Generative AI (GenAI)

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2567 World Semiconductor Trade Statistics ได้รายงานว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกมีการเติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 19 โดยมียอดขายมูลค่า 627 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2568 จะมียอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 697 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภูมิภาคอเมริกาและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะเติบโตถึง 2 หลักเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 15 และร้อยละ 10 ตามลำดับ นอกจากนี้ จากรายงาน 2025 Global Semiconductor Industry Outlook ของดีลอยท์ คาดการณ์ว่ายอดขายชิปอาจสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ร้อยละ 7.5 ระหว่างปี 2568 ถึงปี 2573

จากข้อมูลเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2567 มูลค่าตามราคาตลาดรวมของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ 10 อันดับแรกของโลกสูงถึง 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 93 จาก 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงกลางเดือนธันวาคม ปี 2566

ชิปถูกนำไปใช้ในหลากหลายด้าน อาทิ เอ็นเตอร์ไพรส์เอดจ์ (Enterprise Edge) คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แอปพลิเคชัน และอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IoT) โดยชิปเหล่านี้มักจะถูกใช้สำหรับ GenAI หรือ AI แบบดั้งเดิม (Machine Learning) หรือทั้ง 2 อย่างรวมกัน ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันยอดขายของอุตสาหกรรมคือความต้องการชิป GenAI และการเติบโตของอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ (Data centre) ซึ่งหมายรวมถึง หน่วยประมวลผลกลาง (Central processing units: CPUs) หน่วยประมวลผลกราฟิกส์ (Graphics processing units: GPUs) ชิปสื่อสารสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ และชิปพลังงาน เป็นต้นแม้ว่าความต้องการจากตลาดพีซีและมือถือเริ่มซบเซาลง ซึ่ง International Data Corporation (IDC) คาดการณ์ว่า ในปี 2568 ยอดขายสมาร์ทโฟนอาจเติบโตเพียงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอาจเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ตัวชี้วัดในอนาคต

ในปี 2568 ผู้บริหารในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ควรให้ความสำคัญในด้านต่อไปนี้

1. ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการลงทุนจำนวนมากในเซมิคอนดักเตอร์สำหรับ GenAI และความสามารถของบริษัทต่าง ๆ ในการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ GenAI อย่างมีประสิทธิภาพ หลายธุรกิจยังคงยึดมั่นกับความเชื่อเมื่อปี 2568 ที่ว่า “ความเสี่ยงจากการลงทุนที่ไม่เพียงพอมีมากกว่าความเสี่ยงจากการลงทุนที่มากเกินไป” อย่างไรก็ตาม ความต้องการชิป GenAI อาจลดลงมากกว่าที่คาดไว้ หากมุมมองนี้เปลี่ยนแปลงไป

2. การแข่งขันจากกลุ่มสตาร์ทอัพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดความท้าทายต่อผู้เล่นที่มีอยู่ก่อนแล้วในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ในทั้ง 3 ไตรมาสหลังของปี 2567 สตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับชิป ได้รับเงินลงทุนจากเวนเจอร์แคปปิตอลประมาณ 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสัดส่วนของชิป AI สูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งมีสตาร์ทอัพจำนวนมากที่สามารถเสนอโซลูชันเฉพาะทาง รวมถึงแอปพลิเคชันบนพื้นฐาน RISC-V ที่ปรับแต่งได้ ชิปเล็ต โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) วงจรรวมโฟโตนิก (ICs) และบริการออกแบบชิป

3. การคาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ และตลาดสำคัญอื่นๆ จะทยอยลดลง รวมถึงสภาพแวดล้อมด้านสินเชื่อที่เอื้ออำนวยอาจช่วยสนับสนุนการควบรวมกิจการและการซื้อกิจการ (M&A) ในอุตสาหกรรมชิป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบริษัทที่มีทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่าแต่เริ่มตามหลังคู่แข่ง จะกลายเป็นเป้าหมายการเข้าซื้อกิจการ อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นและความขัดแย้งทางการค้าโลกอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำข้อตกลง

ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงดำเนินต่อไปทั่วโลก บริษัทเซมิคอนดักเตอร์จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยความร่วมมือและพันธมิตรแบบดั้งเดิมอาจต้องปรับตัว ถึงแม้ว่าแนวโน้มต่าง ๆ อาทิ การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศและการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศใกล้เคียงจะได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งนี้ สหรัฐฯ กำลังพยายามนำการผลิตและการดำเนินงานห่วงโซ่อุปทานของบริษัทสหรัฐอเมริกาในต่างประเทศให้กลับมาในประเทศ นอกจากนี้ การควบคุมการส่งออกแร่ธาตุที่จำเป็นของประเทศจีนยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิป เนื่องจากทังสเตนและเทลลูเรียมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคอาจส่งผลเสียต่อการจัดหาวัสดุและสินค้าคงคลังที่จำเป็น ส่งผลให้การวางแผนความต้องการของเซมิคอนดักเตอร์มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นจะต้องมีความคล่องตัวมากขึ้นเพื่อปรับกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานและข้อตกลงด้านราคา

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าได้แบ่งการค้าเซมิคอนดักเตอร์ของไทยออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า (Integrated circuit: IC) และกลุ่มอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด (Diodes-Transistors Semiconductor: O-S-D) อีกทั้ง สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้รายงานว่า อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นหลังผ่านภาวะขาดแคลนชิปจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 โดยการนำเข้ากลุ่มแผงวงจรไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 6.8 แสนล้านบาทในปี 2566 เป็น 8.7 แสนล้านบาทในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การนำเข้าในปี 2567 มาจากไต้หวันมากที่สุดที่ 3.8 แสนล้านบาท ตามด้วยจีนที่ 9 หมื่นล้านบาท และเกาหลีใต้ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท โดยประเทศญี่ปุ่นซึ่งในอดีตเคยเป็น 3 อันดับแรก ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 4 ที่มูลค่าราว 7.3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การนำเข้าทั้งหมดในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 คิดเป็นมูลค่าราว 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สำหรับกลุ่มอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด (O-S-D) การนำเข้าลดลงจากประมาณ 1.2 แสนล้านบาทในปี 2566 เหลือประมาณ 1.1 แสนล้านบาทในปี 2567 หรือลดลงร้อยละ 13 ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะนำเข้า O-S-D จากประเทศจีนมากที่สุดในปี 2567 แต่มูลค่าการนำเข้ากลับลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น โดยลดลงร้อยละ 34 เหลือราว 4.2 หมื่นล้านบาท ตามด้วยประเทศญี่ปุ่นที่ 1.5 หมื่นล้านบาท และสหรัฐฯ ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ การนำเข้าทั้งหมดใน 2 เดือนแรกของปี 2568 นั้น มีมูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ประเทศไทยกำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นที่สำคัญมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ประกาศให้สิทธิพิเศษการลงทุนมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาทกับบริษัทในเครือจากไต้หวันที่เป็นผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ตามสัญญา หรือ contract electronics รายใหญ่ที่สุดในโลกในการจัดตั้งโรงงานผลิตสำหรับการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำสูง ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งยังส่งเสริมบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ Power Electronics อันดับหนึ่งของโลกในการสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งที่ 3 ของโลกในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและศูนย์ข้อมูล และธุรกิจที่ใช้เครื่องมือจัดการพลังงานสะอาด โดยมีกำหนดเริ่มดำเนินการในปี 2569

นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ) ยังได้เห็นชอบกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงรวมถึงรับทราบแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาบุคลากร และเพื่อเตรียมพร้อมรับคลื่นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ใหม่มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ภายในปี 2572 อีกด้วย

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ มาตรการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ และการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานในอนาคต ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ประเทศไทยพร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ของโลก

หมายเหตุ: บทความนี้เขียนโดย อิง ฮาว แทน Assurance Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย และ ทัศดา แสงมานะเจริญ เจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาอาวุโส แผนก Growth ดีลอยท์ ประเทศไทย

อิง ฮาว แทน

Assurance Leader

ดีลอยท์ ประเทศไทย

ทัศดา แสงมานะเจริญ

เจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาอาวุโส แผนก Growth

ดีลอยท์ ประเทศไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment