ค่าเงินบาทเปิดเช้า 19 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้า 19 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.68 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.61-33.73 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่า เงินดอลลาร์จะมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ในลักษณะ Sideways Up ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มที่รัฐบาลสหรัฐฯ อาจเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าประเภทรถยนต์ Semiconductor และยา ในช่วงต้นเดือนเมษายน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างออกมาสนับสนุนให้เฟดชะลอการลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจในแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างสหรัฐฯ กับ รัสเซีย เพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ก็มีส่วนหนุนเงินดอลลาร์ ตามการย่อตัวลงบ้างของเงินยูโร (EUR) ทว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงแนวโน้มการเจรจาเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้หนุนให้ราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติมมากนัก ท่ามกลางความไม่แน่นอนของแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ที่ล่าสุดขู่ขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าประเภทรถยนต์ Semiconductor และยา ขณะเดียวกันบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ส่งสัญญาณสนับสนุนการชะลอลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันบรรดาหุ้นเทคฯ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.24%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.32% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมทหารและการบิน ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า บรรดาชาติในยุโรปอาจจะต้องเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม

ในส่วนตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ รวมถึงแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาล Trump 2.0 ล่าสุด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ เหลือ 40% ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.55% อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้กลยุทธ์การลงทุนในบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ ยังคงเป็น การรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ หรือ เน้น Buy on Dip

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Up หลังผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กดดันสกุลเงินยุโรป อย่างเงินยูโร (EUR) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นสู่โซน 107 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.8-107.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวขึ้น แต่ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ และการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงหนุนความต้องการถือทองคำ หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย. 2025) ปรับตัวขึ้นราว +1% สู่โซน 2,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนมกราคม เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยล่าสุด หลังรายงานอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) ของอังกฤษ ที่ยังอยู่ในระดับสูง ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาส BOE ลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง หรือ 75bps ในปีนี้ เหลือเพียง 15% (หรืออาจกล่าวได้ว่า ตลาดเริ่มมองว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยอีกราว 2 ครั้ง)

ส่วนในฝั่งเอเชียแปซิฟิก ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) โดยบรรดานักวิเคราะห์และผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า RBNZ อาจลดดอกเบี้ยลง 50bps สู่ระดับ 3.75% ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุม FOMC ล่าสุดของเฟด (FOMC Meeting Minutes) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา ทำให้ แม้จะมีแรงกดดันจากการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ โดยรวมเงินบาทก็อาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความผันผวนจากการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ที่ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินบาทได้พอสมควร โดยหากราคาทองคำพลิกกลับมาย่อตัวลงต่อเนื่อง เช่น ในกรณีที่ ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ ปัจจัยเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (จับตาการเจรจายุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน) หรือ แนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ก็อาจกดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง

นอกจากนี้ เรามองว่า ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่แม้จะมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่โดยรวม เราประเมินว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย อย่าง หุ้นไทยได้

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.80 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment