{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
Aluminium Loop (อลูมิเนียม ลูป) ผนึกกำลังพันธมิตรปฏิวัติวงจรรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียม ด้วยระบบรีไซเคิล Closed Loop รายแรกของไทย จากกระป๋องเก่าสู่กระป๋องใหม่หมุนวนไม่สิ้นสุด ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ลดพลังงาน ในการผลิต และลดการปล่อยคาร์บอน มุ่งสู่การเป็นบรรจุภัณฑ์ Net Zero ส่งต่อความความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าเก็บกลับบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมใช้แล้วปีนี้ 800 ล้านใบ และเป้าหมายใหญ่ 5,000 ล้านใบ
คุณภวินท์ ชยาวิวัฒน์กุล ผู้ก่อตั้งโครงการ Aluminium Loop และรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด (TBC) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า Aluminium Loop เป็นโครงการที่ตอบรับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลก โดยปฏิวัติวงจรการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมในประเทศไทย ด้วยการพัฒนาระบบรีไซเคิลแบบวงจรปิด (Closed Loop) ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่สามารถทำซ้ำแบบไม่มีสิ้นสุด โดยคุณภาพของบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมยังคงเดิม นับเป็นรายแรกของประเทศไทยที่สามารถทำได้ครบวงจร ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของประเทศให้แข็งแกร่งและยั่งยืน
“ผมมุ่งมั่นและให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนที่กำลังเป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของโลกยุคใหม่ จึงได้เริ่มโครงการ Aluminium Loop เพื่อให้บรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมไม่เพียงตอบโจทย์การเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่สามารถรีไซเคิลได้ แต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดปัญหาขยะหลังการบริโภค และลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต ด้วยการคิดค้นและพัฒนาระบบรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมแบบครบวงจร ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโมเดลที่ก้าวล้ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง รวมถึงช่วยสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” คุณภวินท์ กล่าว
ขณะที่กระบวนการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมแบบครบวงจร ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชีย มีเพียง 4 ประเทศที่สามารถดำเนินการได้ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพที่โดดเด่น เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยสำหรับ การรีไซเคิลแบบวงจรปิด อีกทั้งยังมีการสร้างความร่วมมือจากพันธมิตรรายสำคัญที่ช่วยให้โครงการ Aluminium Loop มุ่งสู่ การบรรลุเป้าหมายในการสร้างสรรค์ ขับเคลื่อน และขยายวงจรการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมที่ยั่งยืนที่สุดในโลก ได้แก่
1. ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด (TBC) ในฐานะผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดในไทย และอาเซียน มีกำลังการผลิตสูงถึง 5,000 ล้านกระป๋องต่อปี ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยจากความร่วมมือกับ Ball Corporation ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ทำให้มีศักยภาพในการขับเคลื่อนวงจร รีไซเคิลที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมอย่างเป็นรูปธรรม
2. ผู้เก็บรวบรวม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) ให้ความร่วมมือในการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียม ใช้แล้วในประเทศไทย ซึ่งบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมใช้แล้วถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับผู้เก็บขยะรายย่อย ได้เป็นอย่างดี ด้วยคุณค่าของตัววัสดุที่มีมูลค่ารับซื้อค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ทำให้มีประสิทธิภาพ ในการเก็บรวบรวมสูง จนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมการรีไซเคิลที่แข็งแกร่ง
3. ผู้รีไซเคิล บริษัท แองโกล เอเซีย เทรดดิ้ง จำกัด (Anglo Asia Trading) ใช้นวัตกรรมการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมโดยผ่านกระบวนการทำความสะอาด กำจัดสี และบด เพื่อเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมใช้แล้วให้เป็นอลูมิเนียมรีไซเคิล อัดก้อน
4. ผู้ผลิตวัตถุดิบ บริษัท ยูเอซีเจ (ประเทศไทย) จำกัด (UACJ Thailand) ทำหน้าที่เปลี่ยนอลูมิเนียมรีไซเคิลให้เป็นวัตถุดิบอลูมิเนียมใหม่ โดยผ่านขั้นตอนการหลอม ขึ้นรูปเป็นแท่ง รีดเป็นแผ่น และจัดส่งในรูปแบบม้วนอลูมิเนียม (Aluminium Coil) เพื่อนำไปใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป
ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวสามารถทำได้ภายในรัศมี 400 กิโลเมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในระยะทางที่สั้นที่สุดในโลก ทำให้ การดำเนินงานตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานมีความสะดวกและรวดเร็ว และส่งผลต่อการลดการปล่อยมลพิษจากการขนส่ง โดยการผลิต บรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมใหม่จากวัสดุอลูมิเนียมรีไซเคิลช่วยให้ประหยัดต้นทุนทางการเงิน เวลา และทรัพยากร จึงส่งเสริมความยั่งยืนให้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
สำหรับการรีไซเคิลแบบวงจรปิด หรือ Closed Loop มีจุดเด่นในด้านการหมุนเวียนผลิตภัณฑ์ให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์เดิมที่พร้อมใช้งานได้ใหม่ ซึ่งบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมสามารถรีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมใหม่ได้ไม่จำกัดครั้ง ด้วยคุณสมบัติของอลูมิเนียมที่สามารถหลอมเป็นวัตถุดิบตั้งต้นได้ใหม่โดยไม่สูญเสียคุณภาพ อีกทั้งไม่ต้องปรับเปลี่ยนส่วนประกอบของวัสดุใหม่ ช่วยลดการใช้ทรัพยากร รวมถึงลดพลังงานในการผลิตลงได้กว่า 95% นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมหาศาล ก่อเกิดเป็นวงจรการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการรีไซเคิลแบบวงจรเปิด หรือ Open Loop ที่เปลี่ยนวัตถุประสงค์ของวัสดุจากผลิตภัณฑ์เดิม ก่อนการรีไซเคิลไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ จากกระป๋องอลูมิเนียมไปเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่งถึงแม้จะช่วยต่ออายุวัสดุอลูมิเนียม แต่ต้องเพิ่มทรัพยากรใหม่และใช้พลังงานในการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน นำไปสู่การตัดวงจร ความยั่งยืนของระบบการรีไซเคิลที่ Aluminium Loop ให้ความสำคัญ และต้องการผลักดันให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงกระบวนการ รีไซเคิลอย่างถูกต้อง ซึ่งการรีไซเคิลแบบวงจรปิด ถือเป็นมาตรฐานสูงสุดที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและเป็นวงจรที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก
ทั้งนี้ Aluminium Loop ได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยตลอดโครงการสามารถเก็บรวบรวม บรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมใช้แล้วกลับมารีไซเคิลมากกว่า 1,000 ล้านใบ ซึ่งในปีนี้มีเป้าหมายสำคัญในการขยายปริมาณการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมใช้แล้วให้ได้ 800 ล้านใบ และในระยะยาว 5,000 ล้านใบ ซึ่งจะครอบคลุมปริมาณการใช้งานบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมทั้งหมดในประเทศไทยให้มาเข้าร่วมระบบรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนนี้ พร้อมกันนี้ยังมุ่งมั่นที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมมีความยั่งยืนครอบคลุมหลายมิติมากขึ้น โดยมีแผนจะเปิดตัวโครงการ Aluminium Solar ภายในปีนี้ ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในกระบวนผลิต โดยตั้งเป้าผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมสามารถปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในอนาคต ทั้งยังส่งเสริมให้พันธมิตรของ Aluminium Loop เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดทั้งกระบวนการ
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS