ดร.ทวีลาภ นำคณะผู้บริหารไอแบงก์ ลงพื้นที่ภาคใต้เข้าร่วมประชุม คบจ.สงขลา

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) นำโดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคาร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในวาระงานการลงพื้นที่เพื่อร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่ ในฐานะประธานการประชุมได้กำหนดให้มีการจัดประชุมคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดสงขลา (คบจ.) ครั้งที่ 3/2568 ประกอบด้วย 19 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ณ อาคารหอประชุม ด่านท่าอากาศยานหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ในโอกาสนี้ ดร.ทวีลาภ ได้รายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 โดยไอแบงก์ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 421 ราย ภาระหนี้เงินต้นรวม 887.27 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 มาตรการ ได้แก่

1. มาตรการ “ไอแบงก์ ไม่ทิ้งกัน พักชำระหนี้ ช่วยพี่น้องชาวใต้ ทันที!” มีจำนวนลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ราย ภาระหนี้เงินต้นรวม 886.51 ล้านบาท ผ่านวิธีการช่วยเหลือแบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหนี้สินเชื่อบุคคล ภาระหนี้เงินต้น 553.29 ล้านบาท จำนวน 389 ราย และกลุ่มลูกค้าหนี้สินเชื่อ SMEs ภาระหนี้เงินต้น 333.22 ล้านบาท จำนวน 31 ราย มาตรการการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยของธนาคาร ประกอบไปด้วย

• พักชำระเงินต้น และกำไร ทุกประเภทวงเงิน (ไม่รวมสินเชื่อหมุนเวียน) ระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน

• ให้สินเชื่อซ่อมแซม ฟื้นฟู ที่อยู่อาศัย วงเงิน 1 ล้านบาท อัตรากำไรปีแรก 1.99% ต่อปี และฟื้นฟูกิจการ วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาท อัตรากำไรปีแรก 2.99% ต่อปี ระยะเวลาสูงสุด 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 6 เดือน

• ประกันตะกาฟุล สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ ธนาคารจะเร่งประสานการเคลมสินไหมให้เป็นการเร่งด่วน (Fast Track) ซึ่งคุณสมบัติเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

2. มาตรการ “GSB Boost Up” มีจำนวนลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 1 ราย ภาระหนี้เงินต้น รวม 0.76 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากมาตรการดังกล่าวลูกค้ามีความต้องการให้ธนาคารให้ความช่วยเหลือในรูปแบบพักชำระหนี้ชั่วคราวมากกว่าที่จะก่อภาระหนี้เพิ่ม จึงเป็นที่มาในการออกมาตรการไอแบงก์ไม่ทิ้งกันเพื่อรักษาสถานะของลูกค้าให้คงเป็นหนี้คุณภาพและตอบสนองความต้องการของลูกค้า

นอกจากนี้ สำหรับการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแล้ว ไอแบงก์ยังให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วยการบริจาคอาหารและสิ่งของจำเป็น ร่วมกับสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ในการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเป็นการเร่งด่วน สนับสนุนภารกิจเปิด “โรงครัวฮาลาล” รวม 8 แห่ง ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นจำนวนเงิน 180,000 บาท ประกอบด้วยจังหวัดสงขลา 3 แห่ง จังหวัดยะลา 3 แห่ง จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส จังหวัดละ 1 แห่ง พร้อมจัดทำถุงยังชีพ จำนวน 950 ถุง เป็นเงิน 380,000 บาท รวมเป็นเงินสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือ ทั้งสิ้น 560,000 บาท


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment