{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการจัดตั้งศูนย์กลางทางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้มีบทบาทเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ของประเทศในอนาคตนั้น เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นการยกร่างกฎหมายชุดใหม่ให้มีความเป็นสากล โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Financial Hub ได้อย่างแท้จริงตามนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ ในระยะต่อไปร่าง พ.ร.บ. จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ก่อนที่จะมีผลใช้บังคับต่อไป
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ประกอบด้วย 9 หมวด 96 มาตรา โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
1) การประกอบธุรกิจเป้าหมายภายใต้ Financial Hub
Financial Hub ต้องการดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายที่เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ 8 ประเภท ได้แก่ 1) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ 2) ธุรกิจบริการการชำระเงิน 3) ธุรกิจหลักทรัพย์ 4) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 6) ธุรกิจประกันภัย ๗) ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และ 8) ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่ประกาศกำหนด ให้เข้ามาลงทุนและตั้งบริษัทในประเทศไทย โดยต้องมีสถานที่ตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนดตามความพร้อมในการพัฒนา Ecosystem หรือโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญและจะต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด โดยสามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) เท่านั้น ห้ามชักชวนหรือให้บริการลูกค้าในประเทศไทย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายสามารถประกอบกิจกรรมการมีส่วนร่วมในตลาด (Market Participant) ได้ ดังนี้
(1) ผู้ประกอบธุรกิจด้านประกันภัยภายใต้ Financial Hub สามารถทำประกันภัยต่อ
กับบริษัทประกันภัยในประเทศไทยเพื่อโอนความเสี่ยงได้
(2) ผู้ประกอบธุรกิจด้านตลาดทุนภายใต้ Financial Hub สามารถให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการไทย (Co-services) ในการพาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้
(3) ผู้ประกอบธุรกิจด้านสถาบันการเงินภายใต้ Financial Hub สามารถทำธุรกรรม Interbank กับสถาบันการเงินไทยเพื่อบริหารความเสี่ยงได้
(4) ผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้ Financial Hub สามารถเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner) หรือเชื่อมระบบกับผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของไทยได้ หากมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน
(5) ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ Financial Hub ที่ทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน จะมีสถานะเป็น
Non-resident ที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท
2) สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายภายใต้ Financial Hub
ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายภายใต้ Financial Hub จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษี โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะพิจารณาให้ทัดเทียมกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของต่างประเทศเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีที่จะได้รับ เช่น การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย การให้กรรมสิทธิในการถือครองห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย เป็นต้น
3) การอนุญาตและกำกับดูแลธุรกิจภายใต้ Financial Hub
การดำเนินการเพื่อผลักดันให้เกิด Financial Hub นั้น จะมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority: สำนักงาน OSA ) ขึ้น เป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to end) ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Financial Hub และสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย และมีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (คณะกรรมการ OSA) ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Financial Hub กำหนดแนวทางการส่งเสริมธุรกิจเป้าหมาย กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตในการประกอบธุรกิจเป้าหมาย กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการขออนุญาต และพิจารณาการอนุญาต รวมทั้งการเพิกถอนการอนุญาต รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เช่น การดูแลฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน การคุ้มครองผู้บริโภค การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล เป็นต้น
นอกจากนี้ การประกอบธุรกิจเป้าหมายอยู่ภายใต้ข้อกำหนดหรือมาตรฐานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ที่เป็นมาตรฐานสากล ทั้งนี้ คณะกรรมการ OSA จะประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้การพิจารณาดำเนินการต่าง ๆ ในการส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินเป็นไปอย่างถูกต้อง รอบคอบ มีประสิทธิภาพและตรงตามขอบเขตวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยมีปัจจัยที่สามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศ เช่น ทักษะแรงงานไทย โครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินไทยที่พัฒนามากกว่าหลายประเทศ ในภูมิภาค เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคจึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น (1) การดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ ทำให้ประเทศไทยสามารถจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้น (2) การส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานไทย ช่วยให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะทางการเงิน
ที่ทันสมัย สร้างโอกาสการจ้างงานและรายได้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในสายงานที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เทคโนโลยี และบริการสนับสนุนด้านการเงิน และ (3) เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจของไทย กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการพัฒนาระบบการเงินและนวัตกรรมทางการเงินของประเทศไทย
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS