เร่งขับเคลื่อน Mega Project สร้างไทยเป็นฮับการขนส่งทางทะเล - อากาศ

“มนพร” เร่งขับเคลื่อน Mega Project พัฒนาคมนาคมไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเล - อากาศ หนุนท่องเที่ยว สร้างงาน - สร้างรายได้ - สร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “Mega Project Mega Power : พลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในงาน “Go Thailand 2025 : “Women Run the World” 45 ปี ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ณ TRUE ICON HALL ICON SIAM ซึ่งรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประกอบกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายในการเดินหน้าการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ หรือ Mega Project เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ โดยรัฐบาลต้องการเปลี่ยน “ความท้าทาย” ให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งรัดดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสและพลิกโฉมให้กับประเทศไทยผ่านการลงทุนทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ อย่างเป็นระบบ

ประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางของภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการเดินทาง หากพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมได้จะทำให้ประชาชนทั่วโลกที่จะเดินทางมาในภูมิภาคอาเซียนต้องมาประเทศไทยก่อน แล้วต่อเครื่องบินเพื่อเดินทางไปประเทศจุดหมายปลายทาง หรือสินค้าต้องขนส่งมาที่ประเทศไทยก่อนที่จะกระจายต่อไปยังประเทศต่าง ๆ โดยรอบผ่านระบบโครงข่ายคมนาคมที่ดีของไทย ปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศมาจากภาคการท่องเที่ยว จากสถิติที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยถึง 35 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26% เทียบกับปีที่แล้ว และนำรายได้เข้าประเทศกว่า 1.67 ล้านล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า 7 ล้านคน หรือ 20% ของการจ้างงานทั้งหมด และในปีนี้ไทยครองตำแหน่ง “Destination of the Year 2025” จึงเป็นหนึ่งในจุดหมายที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากมาเยือน แสดงให้เห็นว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคต กระทรวงคมนาคมจึงมุ่งขับเคลื่อนโครงข่ายคมนาคมเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมีแผนก่อสร้างท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ ครอบคลุมทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน 3 แห่ง ได้แก่ 1) ท่าเรือสำราญบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา 2) ท่าเรือสำราญภูเก็ต และ 3) ท่าเรือสำราญเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะส่งผลให้มีเรือสำราญขนาดใหญ่แวะเข้าเทียบท่ามากขึ้น สร้างเม็ดเงินและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากเดิมไม่น้อยกว่า 7 - 8 เท่า

นางมนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าในปี 2575 จะมีนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารเดินทางมาประเทศไทยทางเครื่องบินถึง 240 ล้านคน กระทรวงคมนาคมจึงมีแผนจะพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติหลักให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กำลังพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 3 โดยขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก พัฒนาอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ด้านทิศใต้ และทางวิ่งเส้นที่ 4 เพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการพัฒนา วงเงินลงทุน 170,000 ล้านบาท ส่วนท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. มีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศแห่งใหม่ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารในประเทศหลังเดิม วงเงินลงทุน 36,830 ล้านบาท ส่วนท่าอากาศยานเชียงใหม่และท่าอากาศยานภูเก็ตที่มีสภาพแออัด มีข้อจำกัดด้านกายภาพ ทำให้ไม่สามารถขยายทางวิ่งและอาคารผู้โดยสารได้อีก กระทรวงคมนาคมจึงมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่ในภาคเหนือ ได้แก่ ท่าอากาศยานล้านนา ในพื้นที่จังหวัดลำพูน ซึ่งอยู่ห่างจากท่าอากาศยานเชียงใหม่เพียง 22 กิโลเมตร เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศในภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศแห่งใหม่ในภาคใต้ ได้แก่ ท่าอากาศยานอันดามัน ในพื้นที่จังหวัดพังงา ซึ่งห่างจากท่าอากาศยานภูเก็ตประมาณ 23 กิโลเมตร

ในส่วนของการขนส่งสินค้าทางทะเล จากสถิติการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในปี 2566 สัดส่วนมูลค่าการค้าของไทยกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก อยู่ที่ 573,583 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออก อยู่ที่ 115,638 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอาศัยประเทศไทยเป็นประตูในการนำเข้าและส่งออกสินค้า เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและเป็นประตูในการนำเข้าและส่งออกของภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง กระทรวงคมนาคมจึงเร่งดำเนินการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ให้สามารถรองรับจำนวนตู้สินค้าได้มากถึง 18 ล้านตู้/ปี วงเงินลงทุน 114,030 ล้านบาท และท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด ให้สามารถรองรับสินค้าปิโตรเลียมมากถึง 31 ล้านตัน/ปี วงเงินลงทุน 59,350 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งโครงการสำคัญของรัฐบาลนี้ คือ การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งมีองค์ประกอบ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดชุมพรและระนอง เชื่อมโยงท่าเรือสองแห่งด้วยรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร เมื่อโครงการเกิดขึ้นจะเป็นเส้นทางขนส่งทางทะเลเส้นทางใหม่ของโลก จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 15% และลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเลระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียได้ 4 วัน ซึ่งจะพลิกโฉมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลแห่งใหม่ของภูมิภาคและของโลกในอนาคต


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment