{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนและพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โดยมุ่งส่งเสริมด้านพฤติกรรมการใช้พลังงานที่เอื้อต่อการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการบูรณาการการจัดกิจกรรมและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและผลงานวิจัย ด้วยการพัฒนากลไกติดตามพฤติกรรมการใช้พลังงาน และสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ ณ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น (PTT Station) และสถานีบริการน้ำมันบางจาก ถนนวิภาวดีรังสิต
ดร. เผ่าภูมิ กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคลัง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. .... โดยกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับกลไกราคาคาร์บอนในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นการกำหนดให้มีกลไกราคาคาร์บอนในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งเป็นกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Pricing) แรกของประเทศไทยที่แสดงสัดส่วนของต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมในการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ภายในโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยสามารถคำนวณได้จากค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ซึ่งเป็นค่าที่สามารถคำนวณได้ทางวิทยาศาสตร์คูณกับราคาคาร์บอน (Carbon Price) ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าซึ่งภาครัฐเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้ภาครัฐสามารถใช้มาตรการทางภาษีนี้เป็น เครื่องมือในการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
หม่อมหลวงปีกทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) เปิดเผยว่า ความร่วมมือของ OR กรมสรรพสามิต และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนและพฤติกรรมการใช้พลังงาน อย่างยั่งยืน สร้างความตระหนักรู้เรื่องภาษีคาร์บอนของผู้ใช้พลังงาน ด้วยความห่วงใยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ทางด้านนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาษีคาร์บอน ซึ่งมาตรการนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และไม่เพิ่มภาระให้แก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการออกกฎกระทรวงกำหนดกลไกราคาคาร์บอนในภาษีน้ำมันในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ทั้งนี้ OR จะให้การสนับสนุนด้านการดำเนินงานรวมถึงทรัพยากรตามที่ทั้ง 3 ฝ่ายตกลงร่วมกัน นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบาย OR SDG ที่มุ่งสร้างสมดุลในทุกมิติ โดยเฉพาะด้าน G: Green ที่มุ่งสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาดและการสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นายเสรี อนุพันธนันท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การกำหนดกลไกราคาคาร์บอนผ่านภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ถือเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกในการใช้มาตรการภาษีเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งบางจากฯ ในฐานะองค์กรพลังงานชั้นนำของไทย มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอน สนับสนุนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน และพัฒนากลไกติดตามพฤติกรรมการใช้พลังงานของผู้บริโภค ร่วมกับกรมสรรพสามิต และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายหลักคือส่งเสริมความเข้าใจเรื่องภาษีคาร์บอนให้แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะสมาชิกบัตรบางจากกรีนไมล์ส ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการสถานีบริการน้ำมันบางจากที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิง โดยนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เปรียบเทียบกับการปลูกต้นไม้ ภายใต้แคมเปญ “ต้นไม้ของคุณ” ซึ่งจะบันทึกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันสมาชิกบัตรบางจากกรีนไมล์ส ทำให้ผู้บริโภคสามารถเชื่อมโยงพฤติกรรมการใช้น้ำมันรักษ์โลกเข้ากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งบางจากฯ ได้ดำเนินโครงการด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี สำหรับโครงการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนนี้ จะเริ่มสื่อสารตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2568 โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างวิจัยประมาณ 3,500 ราย ภายในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประเมินผลสัมฤทธิ์ของการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน และใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานในอนาคต เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero และสร้างโลกยั่งยืน
ดร. กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้ง ยังได้นำข้อมูลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาศึกษาวิเคราะห์และประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการดังกล่าวเพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายในอนาคต กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตได้รับความร่วมมือจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำร่องการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภค โดยแสดงปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับผู้บริโภคในการเติมน้ำมันแต่ละครั้งผ่านหน้าจอ ณ สถานีบริการ สำหรับ พีทีที สเตชั่น และผ่าน Bangchak Mobile Application ของบริษัท บางจากฯ โดยการเติมน้ำมันแต่ละครั้ง ประชาชนจะรับทราบว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) เท่าใดจากจำนวนน้ำมันที่เติม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลดการปล่อย Co2 ในระยะยาวได้
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS