“โมดี” 4 ปี นายกฯ อินเดีย

นาย นเรนทรา โมดี หรือชื่อเต็มคือ นเรนทรา ดาโมดาร์ดาส โมดี (Narendra Damodardas Modi) นายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของอินเดีย เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2493 โมดีเติบโตมาในครอบครัวพ่อค้าขายชา วรรณะศูทร ในเมืองวัฒนาคร ของรัฐคุชราต ทางตะวันตกของประเทศอินเดีย

ตั้งแต่เด็ก โมดีทำงานส่งเสียตัวเองเรียนด้วยการเปิดร้านขายชาที่สถานีรถไฟกับพี่ชาย พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นได้เข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มอาร์เอสเอส กลุ่มชาตินิยมฮินดูของพรรคภารติยะ ชนาตะ (Bharatiya Janata Party : BJP) หรือพรรคบีเจพี

หลังเรียนจบได้เข้าทำงานในบริษัทขนส่ง ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้ช่วยรณรงค์ด้านการเมืองให้กับกลุ่มชาตินิยมฮินดูพรรคบีเจพี เขาทุ่มเทตั้งใจทำงานให้กับพรรคอย่างมาก จนได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคสาขารัฐคุชราตและเป็นผู้วางแผนหาเสียงจนพรรคชนะการเลือกตั้งในรัฐ คุชราตเมื่อปี 2538 และ 2541

ต่อมาในปี 2544 พรรคบีเจพีได้ส่งโมดีลงสมัครชิงตำแหน่งมุขมนตรีแห่งรัฐคุชราต ซึ่งประสบความสำเร็จ โมดีได้เป็นมุขมนตรีคนที่ 14 แห่งรัฐคุชราต และด้วยการทำงานที่โปร่งใสไร้คอร์รัปชั่น พัฒนารัฐคุชราตจากรัฐที่ยากจนให้เป็นย่านอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงของอินเดีย จนกลายเป็นรัฐต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับรัฐอื่นๆ ทำให้เขาได้รับเลือกให้อยู่ในตำแหน่งติดต่อกันนานถึง 4 สมัย

จนกระทั่งปี 2557 โมดีได้ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอินเดียในนามพรรคฝ่ายค้านบีเจพี ด้วยนโยบายกระตุ้นกำลังการผลิตเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซา สร้างงานเพื่อรองรับประชากรวัยแรงงานปีละกว่า 15 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า ฯลฯ ทำให้เขาได้รับชัยชนะถล่มทลาย และได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557

ผ่านมากว่า 4 ปีแล้ว ผลงานที่โมดีได้เคยทำไว้มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและที่ต้องพบกับความล้มเหลว ซึ่งผลงานที่ประสบความสำเร็จของเขานั้นมีอยู่หลายด้าน ดังนี้

นโยบายภายในประเทศ

1. ด้านบทบาทผู้นำ นายกฯ โมดี ประสบความสำเร็จ อย่างมากในฐานะผู้นำที่มีภาพลักษณ์ดี ซื่อสัตย์ ทำงานหนัก จริงจังและโปร่งใส

2. ด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจ

นายกฯ โมดี ประสบความสำเร็จในด้านการปฏิรูประบบภาษี และนโยบาย Demonetization ซึ่งเป็นการยกเลิกใช้ธนบัตรชนิด 500 และ 1,000 รูปี เพื่อแก้ไขปัญหาเงินนอกระบบและการหนีภาษี แต่หลังจากมีเสียงวิจารณ์ทางลบ รัฐบาลจึงเปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอินเดียไปสู่การเป็น “Cashless Economy” ส่งผลให้ธุรกรรมดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมถึงประสบความสำเร็จในการยกระดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ปรับขึ้นจากลำดับที่ 142 ในปี 2557 มาอยู่ในลำดับที่ 100 ในปี 2561

ส่วนที่ไม่ประสบความสำเร็จ คือการผลักดันนโยบาย Make in India ยังไม่อาจเพิ่ม GDP และไม่สามารถสร้างงานปีละ 10 ล้านตำแหน่งตามที่สัญญาไว้ได้

3. ด้านการปฏิรูปสังคม

รัฐบาลสามารถส่งเสริมการรักษาความสะอาดและสร้างสุขาให้แก่หมู่บ้านทั่วประเทศตามนโยบาย Clean India และนโยบายแก๊สถังแรก เพื่อลดการเผาขยะและถ่านซึ่งสร้างมลพิษ

แต่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาความปลอดภัยของสตรีและเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังถูกวิจารณ์ว่าไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาและสาธารณสุข โดยทั้งสองด้านนี้ได้รับงบประมาณในปี 2561-2562 เพียงร้อยละ 3.48 และ 2.1 ตามลำดับ

4. ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ

รัฐบาลได้ขยายระบบประปา พร้อมกับพัฒนาคมนาคมขนส่ง โดยการสร้างสนามบินเพิ่มเพื่อเชื่อมต่อเมืองขนาดเล็กและเส้นทางการท่องเที่ยว สร้างถนนรวมระยะทาง 10,000 กิโลเมตรในช่วงระหว่างปี 2559-2560 อนุมัติให้สร้างทางหลวงเพิ่มอีก 83,677 กิโลเมตรในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมถึงสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับหมู่บ้านในชนบทเกือบทุกแห่ง พร้อมกับแจกหลอดไฟ LED เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ฯลฯ

แต่รัฐบาลนายกฯ โมดียังไม่ประสบความสำเร็จในด้านการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในกรุงนิวเดลีและกัลกัตตา และโครงการทำความสะอาดแม่น้ำคงคา

ด้านนโยบายต่างประเทศ

นายกฯโมดีและรัฐบาลประสบความสำเร็จในด้านนโยบายต่างประเทศเป็นอย่างมาก ในช่วง 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง ได้ส่งผู้แทนระดับรัฐมนตรีเยือนประเทศต่างๆรวม 186 ประเทศแล้วจาก 192 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั่วโลก รวมถึงได้ขยายความสัมพันธ์กับประเทมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย และความสัมพันธ์กับประเทศขนาดกลาง เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อิสราเอล อิหร่าน ประเทศตะวันออกกลาง เกาหลีใต้ อาเซียน สหภาพแอฟริกา เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูล

http://newdelhi.thaiembassy.org/th/2018/06/modi_at_four/


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment